เปอร์เซ็นต์ทองกรอบพระ %ทองคำ 90% 80% ใช้เนื้อทองกี่% ราคาเท่าไร ต่างกันยังไง

กรอบพระทองคำ90% กับ 80% ต่างกันยังไง

ลูกค้าหลายท่านคงสงสัยว่า กรอบพระทอง90% กรอบพระทอง80% ตลับพระ จริงๆแล้วใช้%ทองคำกี่เปอร์เซ็นต์(%)กันแน่ในการผลิต และ เปอร์เซ็นต์ทองนั้นคืออะไร มีความสำคัญอย่างไรบ้าง และจะดูได้ยังไง สำหรับคนขี้เกียจอ่านบทความนี้ต่อ ร้านท้าวสยามขอสรุปให้สั้นๆเลยว่า หากกรอบพระหรือตลับพระใช้ทองเปอร์เซ็นต์ต่ำ จะทำให้มีอายุการใช้งานที่สั้นกว่า เพราะเมื่อเวลาผ่านไปทองจะ สีซีดขึ้น(ไม่เงางาม) หมองคล้ำ เกิดคราบสนิมซึ่งมีอยู่หลากหลายสีทั้ง สีน้ำตาลเข้ม สีดำ ไปจนถึงสีเขียว (หรือที่คนทั่วไปพูดกันว่า ทองดำ ทองเขียว) ซึ่งสีนั้นจะขึ้นอยู่กับประเภทและสัดส่วนของโลหะที่นำมาผสม (โดยทั่วไปจะผสมด้วย เงิน ทองแดง และ Zinc ในสัดส่วนที่ต่างกันไปของแต่ละโรงงาน) ยิ่งทอง%ต่ำมาก ก็จะยิ่งเกิดคราบสนิมได้มากตาม ส่งผลให้เมื่อเวลานำไปขายคืนจะโดนร้านค้ากดราคาให้ต่ำมาก ซึ่งวิธีการดูนั้นทำได้หลายวิธีตั้งแต่ ใช้ชุดน้ำกรดฝนทอง ไปจนถึงเครื่อง X-ray ทอง แต่คุณลูกค้าลองตรวจสอบเบื้องต้นจากเรื่องน้ำหนักดูก่อนก็ได้ ยิ่งทอง%สูง กรอบจะยิ่งหนัก เพราะทองจะนิ่มทำให้ตีแผ่นบางมากไม่ได้ และ ทองคำเองก็มีน้ำหนักสูงกว่าโลหะชนิดอื่นที่ผสมอยู่ด้วย เพราฉะนั้นหากพระของลูกค้ามีขนาดใหญ่ แต่ร้านทำกรอบที่มีน้ำหนักเบามากให้ได้ ก็มีสิทธิ์ที่จะใช้ทอง%ไม่สูง แนะนำให้ลูกค้าลองตรวจสอบเรื่องน้ำหนักกับหลายๆร้านดูก่อนที่จะนำไปเลี่ยม เพราะทุกร้านก็บอกว่าใช้ทอง90กันหมดแหละ แต่เปอร์เซ็นต์จริงๆจะเท่าไรก็ไม่รู้



เปอร์เซ็นต์ทองคืออะไร

%ทอง หรือ เปอร์เซ็นต์ทองคำ คืออะไร

เปอร์เซ็นต์ทอง นั้นก็คือ ความบริสุทธิ์ของทอง ทุกวันนี้ เรามักจะได้ยิน ทอง 75% (=18K) , 90%(ประมาณ 22K) , 96.5% , 99.95%(=24K) ซึ่งก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า เครื่องประดับนั้นไม่ได้ทำมาจากทองคำบริสุทธิ์100% เพราะว่า เนื้อของทองคำบริสุทธิ์นั้น อ่อนมาก เราสามารถใช้มืองอแผ่นทองไปด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นจึงแข็งแรงไม่พอที่จะมาทำเครื่องประดับ เนื่องจากหลายส่วนของเครื่องประดับ เช่น หนามเตย นั้นต้องแข็งแรงพอที่จะยึดอัญมณีได้ , ตะขอเกี่ยวสร้อยก็ต้องแข็งแรงพอที่จะยึดสร้อยไว้ได้ ที่จะยึดสร้อยไว้ได้ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องนำมาทองคำบริสุทธิ์มาผสมกับโลหะชนิดอื่นๆ เช่น ทองแดง และ เงิน เพื่อเพิ่มความแข็งแรง เพราะฉะนั้นทองที่ใช้ทำเครื่องประดับ จึงถือว่าเป็นโลหะผสม

ท้าวสยามขอยกตัวอย่างเช่น สมมติว่า มีทองคำแท่ง90%(มีcodeตรอกไว้ว่า90%) อันหนึ่ง หนัก 100 กรัม ทองคำแท่งอันนี้จะมีทองคำบริสุทธิ์ผสมอยู่ 90 กรัม ส่วนอีก 10 กรัมที่เหลืออาจจะเป็น โลหะชนิดอื่นที่นำมาหลอมรวมกัน ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้ เงิน, ทองแดง, zinc ในการผสม


เปอร์เซ็นต์%ทอง กรอบพระ

ทำไมเวลาซื้อ กรอบพระ ตลับทอง ต้องสนใจเปอร์เซ็นต์ทอง ว่าใช้กี่% ด้วย?

คนทั่วไปจะคิดว่าทอง%เท่าไรก็เหมือนๆกันหมด แต่ในความเป็นจริงแล้ว เปอร์เซ็นต์ทองนั้นส่งผลต่อ ทั้งราคาตอนซื้อ และ ราคาตอนขาย ซึ่งทองคำที่%สูงกว่า จะมีราคาที่แพงกว่า ทองคำ%ต่ำ และ ยังส่งผลต่ออายุการใช้งานอีกด้วย

ในแง่ของราคาซื้อขาย:

  • ทองคำ%สูงแปลว่า มีทองคำบริสุทธิ์ผสมอยู่ในปริมาณที่มากกว่า มีต้นทุนที่สูงกว่า ทำให้ราคาแพงกว่า สมมติว่า ทองคำแท่ง99% ราคาขาย บาทละ 20000 , ทองคำ80% อาจจะขายอยู่ที่ บาทละ 16000 (คิดจาก 20000 x 0.8)
  • แต่!!! ทองคำ%ต่ำ เวลาที่ลูกค้านำไปขายคืน ก็จะโดนหักราคามากกว่าด้วยนะ แถมร้านส่วนใหญ่มักจะไม่รับซื้อกันด้วย (ซื้อมาถูก แต่ ก็ขายได้ถูก ครับ)

ในแง่ของความสวย และ ความคงทน:

  • ร้านท้าวสยามต้องบอกก่อนเลยว่า หากเป็นทองคำบริสุทธิ์100% หรือ 24 K แล้วละก็ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดสนิมทองขึ้นเองตามธรรมชาติ เพราะทองคำเป็นธาตุมีความไวต่อการเกิดปฏิกิริยาทางเคมีต่ำมาก เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเห็นกรอบพระทองคำ เกิดคราบฟิล์มดำคล้ำ คราบสนิม ขึ้นนั้นจะเกิดจากการแปลงสภาพของโลหะชนิดอื่นๆที่ผสมอยู่ในเนื้อทอง ซึ่งสนิมนั้นก็มีหลายสีขึ้นอยู่กับประเภทและอัตราส่วนของโลหะที่ผสมอยู่ ยกตัวอย่างเช่น
    • หากเนื้อทองมีส่วนผสมของทองแดงอยู่มาก ก็จะเกิดคราบฟิล์มหรือคราบสนิมเป็นสี น้ำตาลแดง หรือ สีออกเขียวๆ ขึ้นได้ เหมือนกันกับที่เกิดตามรูปปั้นทองแดง หรือ ท่อน้ำ
    • หากเนื้อทองมีส่วนผสมเป็นเงินอยู่มาก ก็จะเกิดคราบฟิล์ม สีเทาดำ หรือ น้ำตาลเข็ม เหมือนกับที่แหวนเงินเก่าๆจะสีดำคล้ำเลยครับ
  • เพราะฉะนั้นหากกรอบพระ ตลับพระ ใช้ทอง%ต่ำๆ เมื่อใช้ไปนานๆ ทองก็ดูซีดลง(ไม่เงางามเหมือนเดิม) คราบฟิล์มสีดำ คราบสนิมก็จะค่อยๆก่อตัวเป็นชั้นๆหนาขึ้นเรื่อยๆ !!! ยิ่ง%ต่ำมากเท่าไร ก็จะยิ่งเกิดคราบเร็วและง่ายมากขึ้นเท่านั้น

ทองคำเปอร์เซ็นต์%ต่ำ

กรอบพระทอง 90% กับ กรอบพระทอง 80% คือ? ต่างกันอย่างไร? คิดราคายังไง?

คำถามเรื่อง กรอบพระทองคำ90 และ กรอบพระทองคำ80 นั้นก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มีลูกค้าถามกันเข้ามาหาท้าวสยามมาก

ท้าวสยามขอบอกก่อนว่า กรอบพระ ตลับพระ งานทองต่างๆ นั้นจะแตกต่างจากทองรูปพรรณ (สร้อยทอง แหวนทอง) ที่ซื้อตามร้านทอง โดยที่ทองรูปพรรณนั้นจะใช้ทอง 96.5% ซึ่งเวลาที่ซื้อหรือขายก็จะอิงตามราคาทองคำแท่ง 96.5 + ค่ากำเหน็ด หรือ ตามราคาทองรูปพรรณ96.5 ในแต่ละวันเลย

แต่สำหรับงานกรอบพระ และ งานทองสั่งทำอื่นๆ นั้นจะใช้ ทองคำอยู่ที่ 55% – 90% ขึ้นอยู่กับสูตรผสมของแต่ละโรงงาน โดย

สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจ:

  • ต่างประเทศเวลาที่เค้าผลิตทองกันจะมีมาตรฐานสูงมาก จะไม่มั่วๆเหมือนของบ้านเรา เช่น ถ้าต่างประเทศเค้า ตรอกว่า 75% แสดงว่า เนื้อทองจริงก็จะเป็น 75% จริงๆ
  • ที่ประเทศไทยบ้านเรามักจะชอบเล่นคำ เช่น  กรอบพระทอง90%  , กรอบพระทอง90%เต็ม(หรือที่เรียก เนื้อทอง90%)  นั้นตีความกันคนละความหมายกัน เพราะว่า สำหรับบ้านเราแล้ว ทองที่มี เนื้อทองจริง 75%-90% ร้านส่วนมากก็จะเรียกรวมว่า ทอง90 ทั้งหมด แต่ส่วน ทอง90%เต็ม จะหมายถึง ทองที่มีเปอร์เซ็นต์ส่วนผสมของเนื้อทอง90% จริงๆ ซึ่งก็มีทั้งจากการใช้ทองคำแท่ง 99.9 หรือ 96.5

เปรียบเทียบ ทอง90% vs ทอง80%

  • กรอบพระทองคำ 90% หรือที่เรียกว่า ทอง90
    • เนื้อทองจริง: อยู่ที่ประมาณ 75% – 80%+/-
    • สามารถพบได้ทั่วไปตามร้านทองทั้งในห้างและนอกห้าง
    • น้ำหนัก, ค่าแรง และ ราคา จะสูงกว่า งานทอง80%
    • การคิดราคา: ราคาที่ร้านขายออกจะอยู่ที่ 90% , เวลาที่ขายคืนก็จะโดนหักประมาณ 10-15%
      • ยกตัวอย่างเวลาที่ขายออก: สมมติ ราคาทองแท่ง96.5ขายออก บาทละ 20,000 เวลาที่คิดราคาขายออกกรอบทอง ก็อาจจะอยู่ที่ บาทละ (20,000 x 0.9) = 18,000 THB แต่บางร้านก็อาจจะคิดราคา บาทละ 20,000 ไปเลย
        • แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของแต่ละร้าน เช่น บางร้านคิดค่าทองถูก แต่คิดค่าแรงกับค่าซิ้แพง ในขณะที่บางร้านอาจจะคิดค่าทองแพง แต่คิดค่าแรงกับค่าซิ้ถูก (ท้าวสยามขอบอกเลยว่า เวลาที่จะตัดสินว่าร้านไหนแพงละก็ ต้องดูทั้ง ค่าแรง/ค่าซิ้/ค่าทอง ทั้ง 3 อย่างนี้ประกอบกัน จะดูจากแค่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ )
      • ยกตัวอย่างเวลาที่ขายคืน: สมมติ ราคาทองแท่งอยู่ที่ บาทละ 20,000 เวลาที่ขายคืน ก็อาจจะได้อยู่ที่ บาทละ 20,000 x (0.9 – 0.1) = 16,000 THB
    • ข้อดี: หากร้านใช้ 75%ขึ้นไปจริงๆ จะไม่ค่อยเจอปัญหา ทองขึ้นสีแดง ทองดำ ทองเขียว แต่อาจจะมีเจอตามรอยเชื่อมต่างๆได้บ้างซึ่งก็เกิดจากน้ำผสานทอง โดยก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติไม่ได้แปลกอะไร
  • กรอบพระทองคำ 80% หรือที่เรียกว่า ทอง80
    • เนื้อทองจริง: อยู่ที่ประมาณ 55% – 70% (ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 65%)
    • สามารถพบได้ทั่วไปตาม ร้านเลี่ยมพระ และร้านทองบางร้าน
    • น้ำหนัก และ ราคาจะถูกกว่า งานทอง90
    • การคิดราคา: ราคาที่ร้านขายออกจะอยู่ที่ 80%, เวลาขายคืนจะโดนหักประมาณ 10-15% แต่ส่วนมากแล้วร้านทองจะไม่ค่อยรับซื้อเพราะว่ามีเนื้อทองจริงน้อย นำไปหลอมเพื่อผสมใช้ใหม่ได้ไม่ดี
      • หลักการคิดจะคล้ายกับกรณีของทอง90 เลย เช่น สมมติ ทองแท่งบาทละ 20,000 , ราคาขายออกกรอบอาจจะอยู่ที่บาทละ 20,000×0.8 = 16,000 THB , ราคาขายคืนก็อาจจะได้อยู่ที่บาทละ 20,000 x (0.8 – 0.15) = 13,000 THB
    • ข้อควรระวัง: อาจจะเจอปัญหา ทองดำ ทองเขียว ได้บ้าง เพราะ มีส่วนผสมของโลหะอื่นอยู่เยอะ ยิ่งไปกว่านั้นหากไปเจอร้านที่ใช้เนื้อทองจริงแค่ 50-55% ละก็ ใช้งานไปแล้วมีปัญหาแน่นอนครับ + เวลาที่นำพระพร้อมกรอบหรือตลับไปประมูลก็อาจจะมีปัญหาเรื่องเปอร์เซ็นต์ทองได้

เปรียบเทียบ ทอง90%เต็ม vs ทอง80%เต็ม

  • กรอบพระทองคำ 90%เต็ม หรือที่เรียกว่าเนื้อทอง90
    • เนื้อทองจริง:
      • หากใช้ทองคำแท่ง 99.9 > %จริงจะอยู่ที่ 89-90%
      • หากใช้ทองคำแท่ง 96.5 > %จริงจะอยู่ที่ 85.5-86.5% (ร้านส่วนใหญ่จะใช้แบบนี้เป็นปกติ)
    • ส่วนมากจะเป็นงานสั่งทำขึ้นมาแบบพิเศษ ไม่ค่อยมีวางขายทั่วไป เพราะว่า งานประเภทนี้จะมี ค่าแรง น้ำหนัก และ ราคา ที่สูงกว่างานทั่วๆไปมาก เพราะว่า ยิ่ง%สูง ทองจะยิ่งนิ่ม ทำให้ไม่สามารถรีดแผ่นทองบางได้เท่ากับทอง%ต่ำ และ สัดส่วนทองจริงๆในเนื้อทองที่มากจึงทำให้เนื้อทองหนักกว่าอีกด้วย อีกทั้ง ช่วงกำไรจะน้อยกว่างานประเภทที่%ทองต่ำกว่า ดังนั้น งานประเภทนี้ส่วนมากจะเป็นพวกเซียนพระใหญ่เค้าเล่นกัน
    • การคิดราคา: ราคาที่ร้านขายออกทั่วไปจะอยู่ที่ 100% , เวลาขายคืนจะได้อยู่ที่ 90%
    • ข้อดี: สีจะสวยกว่า, รูปทรงจะดูอ่อนช้อยกว่า, แกะลายจะดูลึกและสวยมากกว่า, สามารถใช้งานได้นานโดยที่ ไม่ดำ ไม่คล้ำแน่นอน
  • กรอบพระทองคำ 80%เต็ม หรือที่เรียกว่าเนื้อทอง80
    • เนื้อทองจริง:
      • หากใช้ทองคำแท่ง 99.9 > %จริงจะอยู่ที่ 79-80%
      • หากใช้ทองคำแท่ง 96.5 > %จริงจะอยู่ที่ 75.5-77% (ร้านส่วนใหญ่จะใช้แบบนี้เป็นปกติ)
    • จริงๆแล้วจะมีเปอร์เซ็นต์ทองคล้ายคลึงกับ กรอบพระทอง90%
    • การคิดราคา: ราคาที่ร้านขายออกทั่วไปจะอยู่ที่ 90% , เวลาขายคืนจะได้อยู่ที่ 80%

ถ้าลองเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆละก็ กรอบทองที่ขนาด กว้างxยาวxสูง เท่ากัน หากเป็นทอง ประมาณ70%เต็ม น้ำหนักอยู่ที่ 3 กรัม แต่หากว่าเป็น ทอง90%เต็ม จะต้องใช้แผ่นทองที่หนากว่า ซึ่งน้ำหนักอาจจะอยู่ที่ประมาณ 5-6 g ซึ่งส่งผลให้ ค่าซิ้ ค่าทอง ราคาสูงมากขึ้นไปด้วย อาจจะ 1.5 – 3 เท่า


กรอบพระควรใช้ทองคำกี่เปอร์เซ็นต์ถึงจะดี? ทอง90ใช้แล้วจะดำไหม?

กรอบพระ ควรใช้ทองคำกี่เปอร์เซ็นต์%ถึงจะดี? ทอง90 ใช้แล้วจะดำไหม

มาถึงคำถามยอดฮิต มีลูกค้าหลายคนถามทางร้านท้าวสยามมาว่า กรอบพระ ตลับพระ ควรใช้ทองเปอร์เซ็นต์เท่าไรดี ถึงจะไม่คล้ำ ไม่ดำ ไม่เป็นสนิม ท้าวสยามของตอบจากประสบการณ์เลยว่า ส่วนมากแล้ว หากกรอบพระใช้ %เนื้อทองจริง มากกว่า 75% ก็ถือว่าผ่านแล้วครับ ใช้แล้วแทบจะไม่เจอปัญหาครับ

โดยทั่วไปแล้ว มาตรฐานสากลในการผลิตงาน jewelry นั้นจะใช้ ทองคำ75% (18K) เสมอ และ ในประเทศไทยมาตรฐาน การผลิตเครื่องประดับทองคำ ที่ สคบ.กำหนดก็อยู่ 75%(18K) ขึ้นไปเช่นกัน

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม!!! ก็มีปัจจัยอื่นที่เพิ่มโอกาสทำให้ทองเกิดคราบ ดำ แดง ได้เช่น

  • แต่ละคนมีเคมีทางร่างกายที่ไม่เหมือนกัน หรือที่เค้าเรียกกันว่า คนเหงื่อเค็ม คนเหงื่อเปรี้ยว ทำให้คนบางคนใส่อะไรก็ดำไปหมด ในขณะที่บางคนใส่เงินหรือทองที่%เท่ากันแต่ไม่ดำ (วรสารต่างประเทศก็มีการยืนยันในเรื่องนี้ หรือ ลองไปถามร้านรับซื้อทองเก่าดูก็ได้ครับ)
  • การสัมผัสกับสารเคมี เช่น น้ำหอม สเปรย์ดับกลิ่น หรือ ใส่ขณะทำอาหาร หรือ ใส่ทำงานในโรงงานอุตสากรรมที่มีสารเคมี เป็นประจำก็มีผลเช่นกัน

โดยสำหรับกรอบพระนั้นพวกคราบดำแดงมักจะเกิดที่บริเวณรอยเชื่อมและหูห่วง เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีน้ำประสานทอง (สารและโลหะผสมที่ใช้ในการเชื่อมทองให้ติดกันระหว่างการขึ้นรูปตัวเรือน) ซึ่งคราบพวกนี้สามารถทำความสะอาดออกได้ไม่ยาก ไม่ต้องห่วงครับ

นอกจากนี้ท้าวสยามได้รวบรวมข้อมูลจากต่างประเทศที่เชื่อถือได้ ดังนี้ครับ

โอกาสที่จะเกิดคราบสนิม บนเนื้อทอง เทียบกับ เปอร์เซ็นต์ทอง

  • เนื้อทอง ต่ำกว่า 60% (10K) : จะถือว่าเป็นทองปลอม ใช้ไปยังไงก็ดำครับ
  • เนื้อทอง ต่ำกว่า 50% (14K) : จะพบเห็นคราบสนิมได้บ่อย (usually seen tarnish)
  • เนื้อทอง 50% (14K) : จะพบเห็นคราบสนิมได้บ้าง (just little tarnish)
  • เนื้อทอง 75% (18K) : พบเห็นสนิมได้น้อย นานๆครั้ง (very seldom)
  • เนื้อทอง สูงกว่า 75% (18K) ขึ้นไป : พบเห็นคราบสนิมได้น้อยมาก (rarely)
  • เนื้อทอง สูงกว่า 90% (21-22K) ขึ้นไป : โอกาสพบสนิมนั้นน้อยสุดๆ (very unusual case and really unexpected ) ผู้เชี่ยวชาญกล่าวไว้ว่า กรณีที่สนิมจะเกิดขึ้นบนทอง 22K นั้น ถือว่าเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งอาจเกิดจากการที่ ทองนั้นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสภาพการกัดกร่อนสูงมาก ยกตัวอย่างเช่น ในโรงงานอุตสากรรมที่มีการเผาถ่านหรืออื่นๆ ซึ่งทำให้มี แก๊ส SO2 ซัลเฟอร์ไดออกไซค์ หรือ ไนโตรเจนออกไซค์ ปริมาณมากซึ่งเมื่อรวมกับความชื้นในอากาศจะก่อให้เกิด สภาพแวดล้อมที่มีความเป็นกรดสูง
  • ทอง 99.9% (24K) หรือ pure gold : ไม่มีโอกาสเกิดสนิมขึ้นตามธรรมชาติได้เลย นอกจากจะทำในห้องทดลอง

สรุป กรอบพระทอง90% vs 80% vs 90%เต็ม

ท้ายที่สุดคือ ในความเห็นส่วนตัวของท้าวสยาม กรอบพระ ตลับพระ หากมีเนื้อทองจริง75% ขึ้นไปถือว่าใช้ได้แล้วครับ แต่ถึงอย่างไรก็ตามก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยแหละครับ ถ้าหากอยากได้งานน้ำหนักเบาๆ ราคาถูก โดยที่ไม่แคร์เรื่อง ทองดำ และ ราคาที่จะขายทิ้งมากนัก ก็ลองใช้ กรอบพระ หรือ ตลับทอง80% ดูก็ได้ครับ แต่หากอยากได้ งานน้ำหนักและราคามาตรฐานทั่วไปไม่ถูกไม่แพง ใช้งานได้ดี ก็แนะนำ กรอบพระ/ตลับทอง90% สุดท้ายหากลูกค้าอยากได้ งานแบบ Hi-end แบบพิเศษ ทรงสวยๆ แกะลายลึกดูมีมิติสวยๆ สีสวย น้ำหนักสูงๆ และ รับกับราคาทั้งค่าซิ้และค่าแรงที่สูงได้ ก็แนะนำว่าลอง เป็นงานทอง 90%เต็ม (เนื้อจริง90) ดูก็ได้ครับ

Content Protection by DMCA.com

About The Author

error: Thaosiam ไม่อนุญาตให้คัดลอกข้อมูล
Scroll to Top