- กรอบพระทองคำ พิมพ์นิยมหลักๆ
- กรอบพระมีแบบไหนให้เลือกบ้าง และ ขั้นตอนการออกแบบสั่งทำเป็นอย่างไร
- Step 1 เลือกประเภทหลักของกรอบพระ
- Step 2 เลือก theme ดีไซน์หลักของกรอบพระ
- Step 3 รู้จักกับพื้นผิวลวดลายของกรอบพระ
- Step 4 ออกแบบด้านหน้าของกรอบพระ
- Step 5 ออกแบบด้านข้างของกรอบพระ
- Step 6 ออกแบบด้านหลังกรอบพระ
- Step 7 เลือกหูห่วงของกรอบพระ
- Step 8 เลือกว่าจะลงยาหรือไม่
- Step 9 เลือกวัสดุและสีชุบ
- Step 10 เลือกเพชรและอัญมณีสำหรับ “กรอบพระฝังเพชร ล้อมเพชร”
- Step 11 ประเมินน้ำหนัก และ ตีราคา
- Step 12 ทำพิมพ์พระและวางมัดจำ
- ขั้นตอนการทำกรอบพระเบื้องต้น
- บทสรุปของบทความเรื่องกรอบพระทองคำ
คำว่า “กรอบพระ” นั้นเป็นคำที่หลายๆท่านอาจจะได้ยินคุ้นหูมาตั้งแต่เด็กจนโต จนหลายคนอาจคิดว่าคำๆนี้ได้สูญหายไปตามยุคสมัยแล้วหรือป่าว ผมขอตอบเลยว่าไม่ได้หายไปไหน! เพราะในปัจจุบันทั้งกรอบพระทองคำและเงินก็ยังคงมีความนิยมอยู่สำหรับทุกเพศทุกวัยจนขนาดตัวผมเองยังคาดไม่ถึงเลย
ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านในขณะนี้กำลังมองหาร้านเลี่ยมกรอบพระ สวยๆ ราคาดีๆ ที่ไม่ซ้ำใครอยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะไปทำที่ไหนดีหรืออาจจะกำลังกลัวเพราะไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง กังวลว่าจะโดนร้านต้มและโดนต้อนให้ซื้อไหม, จะได้ผลงานออกมาถูกใจตามที่ตนเองหวังไว้ไหม หรือ จะสื่อสารความต้องการกับทางร้านรับทำกรอบพระรู้เรื่องหรือป่าว
ไม่ต้องกลัว !!! เพราะว่าในวันนี้ท้าวสยามจะขอจับมือท่านเดินเข้าร้านไปด้วยกัน พร้อมสาธิตขั้นตอนการเลือกและสั่งทำกรอบพระ โดยในบทความนี้เราจะพูดถึง ประเภทรูปแบบดีไซน์ต่างๆของกรอบพระที่ลูกค้าสามารถเลือกเองได้ตอนสั่งผลิต(customization), ตัวอย่างแบบพิมพ์นิยมหลักๆของกรอบพระทองคำ(ทั่วไป สุโขทัย ลงยา ฝังเพชร) และ เล่าถึงขั้นตอนการผลิตชิ้นงานแบบพื้นฐาน เมื่ออ่านจบแล้วผู้อ่านก็จะพอได้ไอเดียว่าอยากจะได้กรอบแบบไหนและต้องสั่งยังไง
กรอบพระทองคำ พิมพ์นิยมหลักๆ
ก่อนที่จะไปเริ่มดูกันว่ากรอบพระมีแบบไหนให้เลือกบ้างและสั่งยังไง ท้าวสยามขออุ่นเครื่องด้วยยกตัวอย่างกรอบทองพิมพ์นิยมต่างๆ มาให้ชมกันก่อนเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพโดยรวมว่ากรอบพระของร้านเรานั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อไปถึงหัวข้อต่อไปจะได้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น
#1 กรอบครุฑ (พญาครุฑ)
เช่น ครุฑใหญ่ เล็ก จิ๋ว ของพระอาจารย์วราห์ หลวงพ่อพัฒน์ หลวงพ่อปาน
#2 กรอบพระทรงกลม
เช่น เหรียญรัชกาลต่างๆ ร.5 ร.9, เหรียญจตุคามรามเทพ และ พระพังพระกาฬ
#3 กรอบพระรูปไข่
สำหรับเหรียญพระรูปไข่ต่างๆ เช่น หลวงพ่อทวด ไอ้ไข่เด็ก หลวงพ่อคูณ หลวงพ่อพรหม และ เกจิอาจารย์ท่านอื่นๆ
#4 กรอบพระทรงสามเหลี่ยม
เช่น พระนางพญา (หรือ สมเด็จนางพญา) หนึ่งในชุดเบญจภาคี และ พระพุทธชินราช
#5 กรอบพระทรงสี่เหลี่ยม
เช่น พระสมเด็จ, หลวงปู่ศุข และ กรอบล๊อกเก๊ตทอง รูปถ่าย รูปภาพ ยันต์ต่างๆ
#6 กรอบพระพิมพ์เตารีด
หลักๆที่พบเจอได้มากที่สุดก็จะเป็น หลวงปู่ทวด
#7 กรอบพญาเต่าเรือน
ที่ดังๆจะเป็น เต่าหลวงปู่หลิว และ เต่าหลวงพ่อพัฒน์ รุ่นนิยมต่างๆ นอกจากนี้ก็จะมีเต่าจิ๋วที่ไว้เลี่ยมใส่แบบกระทัดรัดอีกด้วย
#8 กรอบพระรูปหล่อ
ตัวอย่างเช่น หลวงพ่อโสธรกรมตำรวจ, พระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี, ท้าวเวสสุวรรณ รุ่นต่างๆ เช่น รุ่นเจ้าสัว รุ่นประทับราหู, พระกริ่ง, พระนาคปรก, รูปหล่อไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์
#9 กรอบพระสมเด็จ
อันนี้ถือเป็นสุดยอดพิมพ์นิยมตลอดกาล ซึ่งจะมีทั้ง พิมพ์ใหญ่ พิมพ์เจดีย์ พิมพ์ฐานแซม และ อื่นๆ
#10 กรอบพระปิดตา
ซึ่งก็จะมีทั้งพิมพ์ทั่วไป หรือ พิมพ์หลวงปู่ศุข
#11 กรอบพิมพ์พระรอด
ที่ดังๆเลยก็จะเป็น หลวงพ่อทวด พิพม์พระรอดเนื้อว่าน วัดช้างไห้
#12 กรอบเสมา
ซึ่งจะมีอยู่หลายพิมพ์ เช่น มาตรฐาน, เหรียญอาร์ม, น้ำเต้า, วัดหนัง โดยที่พบได้บ่อยก็จะเป็น หลวงพ่อโสธร และ หลวงปู่ทวด
#13 กรอบลูกอม
เดิมทีลูกอมก็ไม่ได้มีรุ่นตายตัวเท่าไรนัก แต่ช่วงหลังๆมานี่ที่มาแรงๆก็จะเป็น ลูกอมไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์
#14 กรอบพระเม็ดแตง
เช่น เหรียญหลวงปู่ทวดเม็ดแตง ซึ่งจะนิยมทำแบบ 3 ห่วง ต่อกับสปริงก้ามปูทองคำ
#15 กรอบรูปทรงและแบบอื่นๆ
เช่น กรอบรูปหัวใจสำหรับใส่ภาพล๊อกเก๊ต หรือว่าจะเป็น เลี่ยมกรอบพระเนื้อหยกแบบไม่อัดพลาสติกกันน้ำ
กรอบพระมีแบบไหนให้เลือกบ้าง และ ขั้นตอนการออกแบบสั่งทำเป็นอย่างไร
สมมติว่าคุณลูกค้า เดินเข้ามาที่ร้านเพื่อเลี่ยมกรอบพระทองคำ เราจะทำการพูดคุยและออกแบบดีไซน์กรอบในแต่ละส่วนประกอบไปพร้อมๆกันกับลูกค้า โดยลูกค้าสามารถเลือก customize ได้ในทุกๆส่วนเหมือนกับการเข้าร้านตัดเสื้อสูธยังไงยังงั้นเลย
Step 1 เลือกประเภทหลักของกรอบพระ
อย่างแรกเลยคือ ต้องเลือกก่อนว่าอยากได้เป็น กรอบพระทองคำจับขอบแบบมาตรฐาน หรือ กรอบผ่าหวาย หรือ กรอบครอบแก้ว โดยจะมีข้อแตกต่างดังนี้
- กรอบพระจับขอบพับหลัง: จะมีชิ้นส่วน 2 ชิ้นคือฝาหน้าและแผ่นปิดหลัง โดยจะประกบกันโดยใช้เทคนิคพับปลายแผ่นทองของฝาหน้าทับแผ่นปิดหลัง เป็นแบบที่พบเจอมากที่สุด และ เหมาะกับองค์พระทุกชนิด อีกทั้งยังสามารถ customize ได้เยอะ แต่ข้อเสียคือจะแกะกรอบเปลี่ยนองค์พระหรือพลาสติกได้เพียงไม่กี่ครั้งเพราะจุดที่พับจะชำรุดเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่แกะ
- กรอบผ่าหวาย: จะเป็นกรอบพระชิ้นเดียวเลย ตอนเลี่ยมก็จะใช้เทคนิคหุ้มขอบแกนพลาสติกเอา ไม่มีการพับ โดยทั่วไปจะสามารถทำน้ำหนักได้เบากว่า และ มีค่าแรงที่ถูกกว่าแบบอื่นๆ สามารถถอดเข้าออกได้ง่ายและบ่อยกว่าแบบแรก นิยมใช้กับการเลี่ยมเหรียญพระทรงเรขาคณิตต่างๆ แต่จะไม่สามารถทำรูปทรงที่ซับซ้อน เช่น ครุฑได้
- กรอบครอบแก้ว: เป็นแบบสำหรับพระรูปหล่อที่มีฐานที่กว้างโดยเฉพาะ ตัวงานนี้จะเหมือนนำองค์พระวางไว้ที่ฐานรองแล้วนำฝาพลาสติกครอบลงไป เนื่องจากองค์พระจะไม่ได้เลี่ยมเข้ากับแกนพลาสติกทั้งองค์ แต่จะยึดกับแกนเฉพาะฐาน จึงทำได้สามารถเห็นองค์พระได้ 360 องศา อีกทั้งกรอบจะมีเดือยที่ฝาฐานสามารถเปิดปิดถอดองค์พระเข้าออกได้ แต่ข้อเสียคือ ราคาค่าแรงจะค่อนข้างสูงกว่า และ เมื่อใช้ไปเวลานานๆอาจจะกันน้ำได้ไม่ดี 100% เหมือนกรอบพระแบบอื่นๆ เพราะว่ามีพื้นที่ผิวสัมผัสให้เดินน้ำยาเชื่อมพลาสติกค่อนข้างน้อย ปกติแล้วเป็นงานที่ใช้เวลาทำเยอะ ร้านรับเลี่ยมพระเลยไม่ค่อยนิยมเท่าไร
Step 2 เลือก theme ดีไซน์หลักของกรอบพระ
ต่อมาต้องมาเลือกกันต่อว่า theme หลักของกรอบพระทองคำของเราจะเป็นอย่างไร เพื่อที่ร้านท้าวสยามจะนำเสนอแบบได้ถูกใจ โดยจะมีอยู่ 4 แนวทางหลักคือ
- กรอบดีไซน์แบบทั่วไป: จะใช้การแกะลาย ปะลาย ทั่วไปเหมือนกับพวกกรอบพระสำเร็จรูปตามร้านทองต่างๆ แต่เรื่องความละเอียดความบรรจงก็จะแตกต่างกันในแต่ละร้าน
- กรอบพระลายสุโขทัย: จะคล้ายกับแบบทั่วไป แต่เอกลักษณ์คือจะมีการติดไข่ปลา ลวดเกลียวโปเต้ ขดลวดพิกุล เดินลายลวดเกลียว ฉลุลาย ลงยา เพิ่มเติมเข้าไป
- กรอบแบบจิวเวลรี่: จะมีดีไซน์เหมือนกับจี้พระทองคำ โดนจะมีลักษณะเด่นคือใช้การฝังเพชร ล้อมเพชร และ ติดใบไม้ซ้อนๆกันเป็นมิติ
- กรอบพระแบบประยุกต์: ผสมผสานระหว่างแบบต่างๆ mix & match อย่างร่วมสมัยเพื่อให้เข้ากับตัวตนของลูกค้ามากที่สุด โดยทางทีมงานท้าวสยามจะออกแบบ custom สวยๆ ให้เอง
Step 3 รู้จักกับพื้นผิวลวดลายของกรอบพระ
ก่อนจะไปถึงแต่ละส่วน เราอยากให้ลูกค้าได้เห็นภาพก่อนว่า texture ลายของกรอบพระทองนั้นมีแบบไหนบ้าง
- ขัดเงา: มีลักษณะผิวเรียบเงา ดูทันสมัย แต่ข้อเสียคือเป็นรอยขนแมวได้ง่าย และ หากกรอบทองขนาดใหญ่มากจะเสียค่าซิ้มากกว่าแบบแกะลาย
- แกะลาย: เป็นการแกะลวดลายไทยลงบนผิวของกรอบพระ เช่น ลายกนก ลายแข้งสิงห์ อื่นๆ
- พ่นทราย: จะมีลักษณะเป็นเหมือนผิวกระดาษทรายแบบละเอียด ทำในขั้นตอนของการชุบ
- ยิ๊ทราย: จะคล้ายคลึงกับพ่นทราย แต่ผิวจะหยาบกว่า มี texture ที่ดูเด่นชัดมากกว่า เป็นแบบที่สวยและลูกค้าชอบกันมาก
- ฉลุลาย: จะเป็นร่องฉลุทะลุลายไทย จะนิยมใช้มากกับงานปลอกตะกรุด และ กรอบผ่าหวาย แต่การฉลุลายจะเสียค่าซิ้มากกว่าแบบอื่นๆ
- เดินลวดเกลียว: จะใช้ขดลวดเล็กๆเชื่อมติดเดินไปตามลวดลายต่างๆบนกรอบ มักจะนิยมใช้กับงานกรอบพระสุโขทัย
- แบบผสม: คือการนำ texture ต่างๆมา mix กัน เช่น ทำเป็นลายขัดเงาสลับกับพ่นทราย
Step 4 ออกแบบด้านหน้าของกรอบพระ
สำหรับด้านหน้าของกรอบพระก็จะมี 3 องค์ประกอบหลักคือ ซุ้ม, ขอบข้าง และ ฐาน
#1 สำหรับซุ้มของกรอบพระ เราก็จะมีแบบให้เลือกหลักๆคือ
- ติดซุ้ม (จะปะลายนูนด้วยหรือไม่ปะก็ได้) ซึ่งก็จะมีสวยๆหลายสไตล์ เช่น ซุ้มหัวสิงห์ (หน้าตรง หรือ เชิดหน้า), ซุ้มดอกพิกุล (4 แฉก หรือ ขดลวด), ซุ้มดอกไม้, ซุ้มดอกบัว, ซุ้มราหู และ แบบcustomอื่นๆ เช่น ตัวเลข หรือ ตัวหนังสือ โดยลูกค้าสามารถเลือกฝังเพชรหรืออัญมณีเสริมลงไปได้ด้วย
- ปะลายนูนอย่างเดียว
- เล่นพื้นผิวอย่างเดียว ไม่ติดซุ้ม ไม่ปะลายนูน (แบบงานกรอบพระเบา)
#2 สำหรับขอบข้างด้านหน้าของกรอบพระ โดยทั่วไปแล้วมักจะ
- เล่นพื้นผิว
- ติดไข่ปลา/ดอกพิกุล
- ฝังเพชรเป็นแถวสั้นๆ
#3 สำหรับฐานของหน้ากรอบพระ ก็จะมีทั้งแบบ
- ปะลายนูน โดยก็จะมี pattern หลักๆคือ ฐานพญานาค (เฉพาะหัว หรือ เต็มตัว), ฐานดอกไม้ ดอกบัว ดอกพิกุลขดลวด, ฐานลายไทยทั่วไป
- ติดซุ้มเพิ่มเติม
- เล่นพื้นผิวอย่างเดียว ไม่ปะลายนูน
- ยืดฐาน ซึ่งจะมีลักษณะเป็นฐานยื่นออกมาจากกรอบเหมาะสำหรับพระรูปหล่อที่มีฐานกว้าง
- ปล. สำหรับกรอบผ่าหวาย นั้นจะไม่มีการเลือกตกแต่งในส่วนนี้
Step 5 ออกแบบด้านข้างของกรอบพระ
สำหรับกรอบพระทองคำแบบจับขอบพับหลัง และ ครอบแก้ว จะมีเทคนิคลูกเล่นที่มักจะนำมาใช้แบบเดี่ยวๆหรือผสมผสานกันคือ
- ขัดเงา หรือ แกะลายไทย โดยหากกรอบพระมีความหนามากก็จะมีพื้นที่ให้แกะลายได้สวยมากขึ้น (**สำหรับคนที่ชอบลายสวยๆมากๆ ก็แนะนำให้ทำเป็นตลับพระดีกว่า เพราะจะสวยกว่ากรอบพระ เนื่องจากตลับนั้นจะสามารถใช้แผ่นทองที่หนาและกว้างกว่าได้ทำให้สามารถแกะลายได้ลึกชัดสวยกว่า)
- ไข่ปลา โดยจะมีแบบไข่ปลาล้อมเพียวๆ หรือ ไข่ปลาวางสลับท่อนทองก็ได้
- ลวดเกลียวเล็ก และ เกลียวใหญ่(โปเต้)
- ลวดโค้ง
- ฉลุลาย หรือ ตีทะลุ
สำหรับกรอบผ่าหวาย ส่วนมากจะนิยมทำอยู่ 2 อย่างหลักๆ คือ เล่นพื้นผิวแบบต่างๆ หรือ ฉลุลาย นอกจากนี้ก็จะมีการติด option เสริมต่างๆลงไปเช่น ดอกเม็ดพิกุลขดลวด, ไข่ปลา และ ลงยา ลงไปตามจุดต่างๆโดยเว้นระยะห่างอย่างสม่ำเสมอ
Step 6 ออกแบบด้านหลังกรอบพระ
สำหรับด้านหลังของกรอบพระทองคำแบบจับขอบพับหลัง จะมีให้เลือกอยู่ 2 อย่างด้วยกัน
- กรอบพระเปิดหลัง: สำหรับแบบเปิดหลังนี้ จะตัดแผ่นทองคำปิดหลังให้เป็นช่องโหว่ตรงกลางขนาดพอดีกับหน้าจอพลาสติก ทำให้สามารถมองเห็นด้านหลังขององค์พระได้
- กรอบพระปิดหลัง: แบบปิดหลังนี้ เราจะไม่ตัดแผ่นหลังแต่จะปิดเต็มแผ่นไปเลย ทำให้ไม่สามารถเห็นองค์พระด้านหลังได้ โดยที่แผ่นหลังนั้นลูกค้าจะสามารถเลือกลวดลายสวยๆได้ตามใจชอบทั้ง ลายไทย ลายรูปภาพ ลายเส้นรัศมี หรือ ตัวอักษร โดยจะทำได้ทั้งแบบแกะมือ หรือ เลเซอร์
Step 7 เลือกหูห่วงของกรอบพระ
ถัดมาในเรื่องของหูห่วงกรอบพระ เรามีหูห่วงหลายสไตล์ให้เลือกทั้ง หูห่วงธรรมดา (แข็งแรงมากที่สุด), ห่วงไข่, ห่วงหัวฝักทอง หรือ เรียกว่า หัวเม็ดมะยม (สามารถหมุนได้ 360 องศา แต่ควรให้ช่างเลเซอร์เชื่อมเพิ่มเพื่อให้แข็งแรงมากขึ้น) และ ห่วงจี้ฝังเพชรหรือพลอย (สวยงามมีคลาส)
ส่วนจำนวนของหูของกรอบพระนั้นมีตั้งแต่ 1 – 3 หู
- 1 หู จะพบได้ทั่วไป
- 2 หู จะพบได้กับพวกงานหัวสร้อยหัวกำไลต่างๆ
- 3 หู จะใช้เมื่อต้องการห้อยกับพระหลายองค์ในสร้อยเดียวกัน เจอได้บ่อยมากกับ กรอบลูกอม และ กรอบเม็ดแตง
ปล. สำหรับกรอบแบบผ่าหวาย เราจะสามารถเลือกจุกครอบได้ด้วย โดยจะมีให้เลือก 2 แบบหลักคือ แบบมีจุกครอบ หรือ ไม่มีจุก(จะเห็นรอยผ่ากรอบ)
Step 8 เลือกว่าจะลงยาหรือไม่
ในส่วนของการลงยากรอบพระนั้น ถือว่าเป็น optional จะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ ส่วนมากจะนิยมใช้กับกรอบพระสุโขทัย หากลูกค้าต้องการลงยา ก็สามารถเลือกตำแหน่งและสีที่ต้องการได้ตามใจชอบเลย โดยจะต้องแจ้งกับร้านเลี่ยมกรอบพระระหว่างขั้นตอนออกแบบเลย เพราะว่ากรอบพระลงยานั้นจะต้องขุดทองตัวเรือนลงไปลึกขึ้นเพื่อรองรับน้ำยา โดยยาก็จะมี 2 แบบคือ แบบร้อน และ เย็น ซึ่งยาร้อนจะมีลักษณะสีทึบกว่าแต่จะทนทานมากกว่า ส่วนยาเย็นสีจะออกใสๆสดๆแต่จะไม่ทนความร้อนเวลานำกรอบไปขัดชุบใหม่สีลงยาจะหลุดได้
แต่เอาเข้าจริงๆหลังๆมานี้ทางร้านไม่ค่อยแนะนำกรอบพระลงยาเท่าไรเนื่องจากถึงแม้ว่าการลงยานั้นจะดูมีเสน่ห์ดูสวยเอามากๆแต่ก็มีข้อเสียอยู่หลายอย่าง เช่น
- หากทำตกพื้นหรือกระแทกแรงเนื้อยาอาจจะแตกได้ และ การซ่อมแซมเนื้อยา ซ่อมกรอบพระ หรือ การชุบสีทองใหม่ นั้นทำค่อนข้างยาก หรือ บางกรณีก็ทำไม่ได้เพราะว่า สีลงยานั้นไม่ถูกกับไฟและความร้อนเท่าไร อาจจะด่างหรือหลุดได้ระหว่างขั้นตอนต่างๆ หากเติมสีใหม่แค่บางจุดสีก็อาจจะไม่สม่ำเสมอได้ หรือ หากจะใช้ไฟเป่าสีเดิมออกลวดลายบนกรอบก็อาจจะละลายเสียหายบางส่วนได้
- ตอนขายหรือเทริน์กรอบพระจะโดนหักน้ำหนักทองเยอะ เพราะว่าน้ำหนักส่วนหนึ่งจะเป็นอยู่ที่เนื้อยา ซึ่งเวลาร้านรับทำเอากรอบไปหลอมทิ้งก็ต้องเอาไฟเป่าเนื้อยาออกให้หมดก่อน ทำให้น้ำหนักลดลง
- ตอนซื้อ ค่าแรงจะแพงกว่าและน้ำหนักจะหนักกว่า
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคลเพราะลูกค้าหลายท่านก็ไม่สนใจเรื่องข้อเสีย แต่จะเน้นไปที่ความสวยที่ตนชอบมากกว่า
Step 9 เลือกวัสดุและสีชุบ
ในขั้นตอนนี้เราจะมาดูเรื่องวัสดุที่ใช้ทำกรอบพระทองคำกัน โดยวัสดุที่ทั่วไปใช้จะมีอยู่ 3 อย่างคือ
- ทองคำปกติ (yellow gold): อันนี้เป็นอย่างที่ท้าวสยามแนะนำมากที่สุดเพราะลูกค้าสามารถนำกรอบพระไปขายเทริน์หรือจำนำได้ดีที่สุด ส่วนเรื่องของ%นั้นปัจจุบันร้านท้าวสยามเราทำเฉพาะ กรอบพระทอง90 (%จริงอยู่ที่ 75-80% ตามมาตรฐาน สคบ. ร้านทองจะเรียกว่าทอง90)
- หากสงสัยลองเข้าไปอ่านอีกบทความได้ครับ เปอร์เซ็นต์ทองกรอบพระ
- พิงค์โกลด์ (pink gold) หรือ แบบเรียกแบบไทยๆก็คือ นาก สำหรับ pink gold นั้นทุกวันนี้จะไม่ค่อยนิยมเท่าไรเนื่องจากเวลานำกรอบพระไปขายจะโดนหักราคาเยอะ อีกทั้งส่วนมากจะผสมเปอร์เซ็นต์ไม่ได้สูงเท่าไรเมื่อใช้ไปนานก็จะดำ ทางร้านเลยจะไม่ผสมทิ้งไว้
- ทองขาว (white gold) (ไม่ใช่แพลตตินั่มนะครับ): อันนี้จะเหมือนกับพิงค์โกลด์คือเวลานำไปขายจะโดนหักเยอะ เลยไม่ค่อยนิยมอีกเช่นกัน หากลูกค้าอยากได้สีนี้เราก็แนะนำให้ชุบเอาจะดีกว่า
Step 10 เลือกเพชรและอัญมณีสำหรับ “กรอบพระฝังเพชร ล้อมเพชร”
กรอบพระฝังเพชร หรือ ล้อมเพชร อย่างสุดท้ายนี้ก็เป็น optional ไม่ได้บังคับอีกเช่นกัน ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าอยากจะฝังเพชรฝังพลอย size ไหนจำนวนกี่เม็ดลงบนตำแหน่งไหนบนกรอบพระได้ตามใจชอบ อีกทั้งสามารถเลือกชนิด,เกรด,ราคาเพชรได้ตามงบ หรือ ลูกค้าจะนำเพชรมาเองก็ได้ โดยเพชรก็จะมีให้เลือกหลักๆ 2 แบบคือ เพชร CZ และ เพชรแท้ (โดยปกติจะเป็นเพชรที่ไม่ติดใบ certificate เพราะว่า ปกติใบ certificate นั้นจะสามารถออกให้กับเพชรที่มีขนาด size มากกว่า 0.15 carat ขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ขนาดที่จะนำมาใช้กับกรอบพระฝังเพชร ล้อมเพชร) นอกจากเพชรแล้ว พลอยต่างๆ เช่น ทับทึม หยก มรกต หรือ อื่นๆก็สามารถนำมาใช้ฝังได้เหมือนกัน
ปล. โดยสำหรับกรอบพระล้อมเพชรหรือฝังเพชร ร้านรับทำกรอบพระทั่วไปจะต้องคิดค่าซิ้เพิ่มจากเดิมประมาณตั้งแต่ 0% ถึง 10% แล้วแต่กรณี เพราะการฝังเพชรนั้นจะต้องมีการเจาะรูและปาดหน้ารูฝังเพชรทำให้มีการสูญเสียผงทองค่อนข้างเยอะ
หากเป็นกรอบพระล้อมเพชรแบบแนวจิวเวลรี่ หรือ จี้พระ จะนิยมใช้เพชร size เล็กขนาด 1 – 2 ตัง จำนวนเยอะฝังล้อมกรอบแบบเต็มๆดูหรูหราอลังการ ซึ่งราคาก็จะสูงหน่อยเพราะใช้เพชรเยอะ
แต่หากเป็นกรอบพระฝังเพชรแบบทั่วไป จะนิยมจะใช้เพชรเพียงแค่ไม่กี่เม็ดฝังประดับกรอบเพื่อให้ดูมีสีสันมีประกายมากขึ้นเท่านั้น ไม่ได้เน้นความอลังการเท่าไร ซึ่งราคาก็เบาๆสบายๆ แพงกว่ากรอบธรรมดาเพียงแค่ หลักพันต้นๆ ถึง ไม่กี่พันบาท แต่ได้ตัวงานออกมาดูดีสวยขึ้นมากๆถือว่าคุ้มค่า
Step 11 ประเมินน้ำหนัก และ ตีราคา
หลังจากที่ตกลงเรื่องแบบดีไซน์ของกรอบพระกันเสร็จ ลูกค้าต้องเลือกว่าอยากจะได้กรอบหนัก หรือ กรอบเบา
- กรอบหนัก: แผ่นทองที่ใช้ทำกรอบพระจะหนาและมีน้ำหนักจะมากกว่า แต่จะสวย และ แกะลายได้ลึกคมชัดมากกว่า แต่ถึงอย่างไรก็ตามจะใช้หนามากไม่ได้เพราะว่าไม่อย่างงั้นจะพับหลังกรอบพระให้สวยไม่ได้
- กรอบเบา (กรอบพระสำเร็จรูป ส่วนมาก): แผ่นทองจะบางและเบากว่าจึงมีราคาต่ำลง แต่เนื่องจากร้านเราใช้ทอง%สูง ทองจะนิ่มจึงไม่สามารถทำเบามากได้เพราะกรอบพระจะไม่แข็งแรง (ถ้าเกิดเห็นกรอบพระทอง90 ที่ไหนน้ำหนักเบาเวอร์ๆละก็ สันนิฐานได้เลยว่าอาจจะเป็นทอง%ไม่สูง หรือ ทอง80)
ทีนี้ทางร้านจะตีน้ำหนักคร่าวๆและคำนวณราคาให้เบื้องต้น ซึ่ง ค่าซิ้ ค่าแรง จะขึ้นอยู่กับชนิดของกรอบพระที่เลือก (ปล. ราคาสุทธินั้น จะต้องคำนวณจากน้ำหนักสุทธิของกรอบพระในวันที่งานเสร็จ)
Step 12 ทำพิมพ์พระและวางมัดจำ
หากลูกค้าตกลงที่จะสั่งทำกรอบพระ เราจะออกใบมัดจำพร้อมรายละเอียดของตัวงานให้ โดยทางร้านจะให้ลูกค้าถ่ายรูปองค์พระทุกมุมเป็นหลักฐาน (ท้าวสยามเรารู้ว่าลูกค้าเป็นห่วงองค์พระมากๆ) หลังจากนั้น เราจะนำองค์พระไปทำพิมพ์พลาสติกไว้เพื่อส่งให้ช่างไปทำกรอบพระทอง
ลูกค้าสามารถนำองค์พระกลับบ้านได้เลย แล้วค่อยนำกลับมาที่ร้านเพื่อเลี่ยมกรอบพระในวันที่นัดหมาย
ขั้นตอนการทำกรอบพระเบื้องต้น
ไหนๆแล้วร้านท้าวสยามเชื่อว่ามีหลายท่านที่อยากจะรู้ว่ากรอบพระทองคำแท้นั้นผลิตขึ้นมาได้ยังไงบ้าง เราก็เลยอยากจะมาเล่าถึงขั้นตอนคร่าวๆให้ฟังสำหรับท่านใดที่อยากจะรู้
กรอบพระจะประกอบขึ้นมาจากแผ่นทอง 4 ส่วน คือ แผ่นหน้า, แผ่นข้าง, แผ่นหลัง และ หูห่วง ซึ่งเราจะต้องมาทำแต่ละส่วนและนำมาเชื่อมกัน โดยมีขั้นตอนดังนี้
#1 จัดเตรียมวัตถุดิบ
- แผ่นทองคำ
- ต้องนำทองไปหลอมตามสูตรผสมของแต่ละร้านรับทำกรอบพระ ซึ่งจะได้ก้อนทองออกมา แล้วนำไปเข้าเครื่องรีดแผ่นทองให้ได้ความหนาที่ต้องการซึ่งแต่ละเครื่องจะทำความบางได้ไม่เท่ากัน
- น้ำผสานทอง
- คือ สิ่งที่ใช้เป็นตัวเชื่อมแต่ละส่วนประกอบของกรอบพระทองเข้าด้วยกัน โดยจะต้องมีจุดหลอมเหลวต่ำกว่าตัวเรือนทอง เช่น ใช้เชื่อมหน้าแหวนกับก้านแหวน โดยทั่วไปเวลาเชื่อมจะใช้ น้ำผสานที่ผสมขึ้นมาเอง ควบคู่ไปพร้อมกับ เพ่งแซ (ผงประสานทอง หรือ ผงสีขาวซึ่งเป็นสารบอแร็กซ์)
- ผงเผ่งแซ สามารถหาซื้อได้ตามร้านเครื่องมือช่างทองทั่วไป
- น้ำผสาน จะผสมขึ้นตามสูตรของแต่ละร้านเลี่ยมกรอบพระ โดยใช้ส่วนผสมเช่น ทองคำ ซิงค์ เงิน โดยการผสมนั้นจะต้องคำนวณอัตราส่วนอย่างพอดีสำหรับ %ทองของกรอบพระแต่ละชนิด (เช่น 14K 18K 22K) เพื่อระวังไม่ให้สีเพี้ยน แล้วนำไปหลอมในเบ้าหรือกระดานไฟก็ได้ เมื่อหลอมเสร็จก็จะได้ก้อนโลหะน้ำผสานออกมา (จะมี %ทอง น้อยกว่า%ทองของตัวกรอบนะครับ) โดยมากก็จะนำไปรีดเป็นแผ่น หรือ ตะไบเป็นผงเพื่อเก็บไว้ใช้งาน
#2 ทำแผ่นหน้า และ แผ่นข้าง (ประกอบกันเป็นฝาหน้าของกรอบพระ)
- เราจะเริ่มด้วยการนำองค์พระมาขึ้นพิมพ์พลาสติก แล้วนำองค์พระคืนให้แก่ลูกค้าหรือเก็บไว้ในตู้เซฟ
- วัดขนาดพิมพ์พลาสติก ความสูง x กว้าง x หนา ด้วยวงเวียนหรือเครื่องมืออื่นๆ
- นำแผ่นทองที่รีดแล้ว มาตัดตามขนาดของพิมพ์พระที่วัดไว้ซึ่งจะได้
- แผ่นกรอบพระด้านหน้า ตามขนาดพิมพ์
- แผ่นกรอบพระด้านข้าง ซึ่งจะยาวเท่ากับเส้นรอบรูปของพิมพ์ โดยความกว้างของแผ่นนี้จะเท่ากับความหนาแกนกลางของพิมพ์พลาสติก + 1 mm (เผื่อสำหรับใช้พับหลัง)
- นำแผ่นกรอบพระสำหรับล้อมด้านข้าง มาเชื่อมปลายทั้ง 2 ด้านด้วยการเผาไฟ หลังจากนั้นให้นำพิมพ์พลาสติกยัดลงไปตรงกลาง แล้วนำคีมหรือเหล็กมารีดให้เรียบตามทรงแกนกลางของพิมพ์ นำพิมพ์ออกมาแล้วก็ใช้คีมดัดแต่งให้สวยงาม
- ทำการเชื่อมแผ่นกรอบพระด้านหน้ากับแผ่นกรอบด้านข้างเข้าด้วยกัน โดยนำแผ่นข้างจุ่มเพ่งแซ่และนำมาวางลงบนแผ่นหน้า นำน้ำผสานทองที่ทำเป็นผงไว้แล้วมาวางตามจุดโดยรอบกรอบโดยเว้นระยะห่างสม่ำเสมอ (เช่น 4 มุม + 4 จุดกึ่งกลางของกรอบแต่ละด้าน) ปล. อย่าใส่เยอะเกินไปเพราะส่วนที่เป็นน้ำผสานทองจะมี %ทองคำไม่สูง เมื่อใช้งานสัมผัสเหงื่อกับสิ่งแวดล้อมไปนานๆ มักจะเปลี่ยนเป็นสีดำสีน้ำตาลแดง
- นำไฟมาเป่าเผากรอบพระให้ทั่ว เพื่อให้น้ำผสานละลายและวิ่งไปทั่วจุดเชื่อมต่างๆบนกรอบพระอย่างสมบูรณ์
- นำกรอบพระไปต้มในน้ำสารส้ม เพื่อทำความสะอาด หลังจากทำความสะอาดเรียบร้อยก็จะนำมาตัดขอบส่วนเกินออกและตะไบแต่งให้สวยงาม
- หลังจากนั้นก็จะมาเลื่อยพื้นที่ตรงกลางของแผ่นหน้าออก โดยใช้วงเวียนกางวัดขอบหน้าของพิมพ์ plastic แล้วนำไปวาดลงบนแผ่นหน้า เจาะรูแล้วใช้ใบเลื่อยฉลุเลื่อยตามเส้นที่วาดไว้ ให้ลองเอาฝาหน้าจอของพิมพ์พลาสติกยัดลงไปในช่องตรงกลางที่ตัดไว้ดูและตะไบแต่งต่อให้ได้ขนาดพอดี
#3 ทำแผ่นหลังของกรอบพระ
- ให้นำฝากรอบด้านหน้าที่เพิ่งทำเสร็จมาวางทาบบนแผ่นทอง แล้วตีเส้นวาดตามเส้นรอบรูปทั้งขอบในและขอบนอกลงไปเลย แล้วใช้ใบเลื่อยฉลุตัดออกมา ตะไบตัดแต่งให้พอดี
#4 ทำหูห่วง และ เชื่อมหูห่วงเข้ากับกรอบพระ
- ต่อไปจะเป็นการทำหูห่วง โดยจะตัดแผ่นทองเป็นวงกลมเจาะรูตรงกลางมา 3 ชิ้น วางซ้อนกันและใช้ไฟเผาเชื่อมด้วยน้ำผสานทองและผงเพ่งแซ และขัดแต่งด้วยตะไบ
- ก่อนที่จะติดหูห่วง ให้ทำฐานข้าวหลามตัดรองหู โดยให้ตัดแผ่นทองเป็นรูปข้าวหลามตัดแล้วแปะลงบนด้านบนของกรอบพระแล้วเผาไฟเชื่อม แล้วก็ค่อยนำหูห่วงแปะลงไปบนฐานข้าวหลามตัดนี้และเชื่อมทับอีกที
#5 ขัดและล้างทำความสะอาด
- โดยนำกระดาษทรายพันกับมอเตอร์แล้วขัดกรอบให้เรียบร้อย และนำกรอบพระทั้งชิ้นไปต้มในน้ำสารส้มอีกรอบ
#6 แกะลาย (engraving)
- นำเครื่องมืออุปกรณ์ปลายแหลม มาแกะลวดลายไทยลงบนกรอบพระ ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความชำนาญและระวังเป็นอย่างมาก เพราะว่าถ้าทำผิดก็ต้องแก้โดยขัดผิวออกแล้วแกะใหม่ ซึ่งจะแก้ได้เพียงไม่ที่รอบเพราะว่าเนื้อทองของกรอบจะบางลงเรื่อยๆ
#7 ขัดรอบสุดท้าย และ ชุบทอง (post-polishing & gold plating) เพื่อให้ได้สีที่เงางาม
#8 เลี่ยมพระเข้ากรอบทอง
- นำองค์พระที่เลี่ยมพลาสติกกันน้ำเรียบร้อยแล้ว มาใส่ลงในฝาหน้าของกรอบพระทองคำ แล้วนำแผ่นหลังใส่ตามลงไป จะเห็นว่าความหนาของกรอบจะมากกว่าแกนกลางของพลาสติก 1 mm ซึ่งมีไว้สำหรับพับหลัง โดยให้พับแผ่นทองส่วนเกิน 1 mm นี้ทับลงไปบนแผ่นหลัง แล้วใช้ค้อนเล็กค่อยๆตอกจนปิดสนิทและใช้หางกระเบนรีดพับให้เรียบสวยงาม
บทสรุปของบทความเรื่องกรอบพระทองคำ
ถึงตรงนี้คุณผู้อ่านทุกท่านคงจะได้เห็นแล้วนะครับว่ากว่าจะออกมาเป็น “กรอบพระ” สักชิ้นหนึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องผ่านขั้นตอน process ต่างๆมาเยอะมากทั้งการดีไซน์ การผลิต การเลี่ยมพระ แต่ถึงอย่างงั้นก็ไม่ต้องกังวล เพราะร้านท้าวสยามจะอยู่ดูแลคุณในทุกๆขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบในการทำกรอบพระทองคำ ด้วยทีมงานมากประสบการณ์ และ วัสดุคุณภาพสูง
“คิดจะเลี่ยม กรอบพระทองคำแท้ สวยๆ ไม่ซ้ำใคร โปรดคิดถึงร้านเลี่ยมกรอบพระท้าวสยาม”