9 ข้อควรระวังก่อนนำพระไปเลี่ยม และ กลโกงร้านเลี่ยมพระ

9 ข้อควรระวังก่อนนำพระไปเลี่ยม และ กลโกงร้านเลี่ยมพระ

เราเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินว่าร้านเลี่ยมพระโกง ร้านทองโกงเอาเปรียบลูกค้ามาบ้าง วันนี้ร้านท้าวสยามจะมาแนะนำเกี่ยวกับข้อควรระวังต่างๆที่ลูกค้าควรรู้ก่อนนำพระไปเลี่ยม ก่อนอื่นเลยสิ่งที่ต้องระวัง และ กลโกงของร้านเลี่ยมพระ/ร้านทองนั้นมีมากมายหลายรูปแบบ เช่น ร้านบางร้านมีการสลับพระที่มีราคาแพงเป็นพระปลอม นำกรอบพระตลับพระมือสองมาเลี่ยมให้กับลูกค้า มีการโกงน้ำหนักทอง โกงเปอร์เซ็นต์ทอง ใช้ทอง%ต่ำในการผลิต โกงคุณภาพเพชร ใช้เพชรปลอม หรือแม้แต่ในเรื่องของงานที่ทำไม่เรียบร้อย ทำออกมาไม่ตรงตามแบบที่ตกลงกันไว้ บางร้านไม่มีความระมัดระวัง ไม่รักษาพระของลูกค้า ทำพระแตก พระหัก ชำรุด บิ่น เป็นรอย หรือไม่ก็เลี่ยมไม่ดีน้ำซึมกรอบพลาสติก น้ำยาผสานเลอะพระ อีกทั้งยังมีเรื่องการโกงราคาคิดราคาแพงอีก ปัญหาเหล่านี้มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งกับลูกค้าที่นำพระไปเลี่ยม

ลูกค้าบางท่านมีพระที่ราคาสูงและตั้งใจจะหาร้านเลี่ยมพระที่มีคุณภาพและไว้ใจได้ แต่ส่วนใหญ่คนนอกวงการพระเครื่องจะไม่ค่อยรู้ถึง วิธีโกงและวิธีเอาเปรียบของร้านเหล่านี้ซักเท่าไร บทความนี้จะบอกถึง ข้อควรระวังต่างๆ เพื่อที่ลูกค้าจะได้รู้ว่าต้องระวังอะไรบ้าง จะได้ไม่โดนโกงหรือโดนเอาเปรียบ



ร้านเลี่ยมพระ พระถูกสลับเปลี่ยน

1. พระถูกสลับเปลี่ยน

มีข่าวอยู่บ่อยครั้งที่ลูกค้านำพระไปเลี่ยม ใส่กรอบ ใส่ตลับ แล้วพระโดนสับเปลี่ยน ผมเชื่อว่าหลายๆคนคงกลัวโดนหลอกสลับพระอย่างแน่นอน ยิ่งเฉพาะเวลาที่ต้องฝากพระไว้ที่ร้าน หรือ แม้กระทั่งเวลาที่เจ้าของร้านนำพระเข้าไปหลังร้าน เรื่องนี้ต้องระวังเอามากๆ ร้านท้าวสยามจึงมีคำแนะนำดังนี้

ข้อแนะนำ

  • ให้เลือกร้านเลี่ยมพระที่ดูน่าเชื่อถือ ถึงแม้ราคาจะสูงกว่าหน่อยก็ตาม เพราะร้านใหญ่เค้าไม่กล้าโกงกันหรอก เนื่องจากว่าการที่จะสร้างร้านให้มีชื่อเสียงได้นั้นต้องลงทุนและใช้เวลาอย่างมากหลัก 10 ปี เพราะฉะนั้นมันไม่คุ้มกับการโกงแค่ครั้งเดียวแล้วโดนลูกค้านำไปเป่าประกาศในโลกออนไลน์ว่าร้านนี้ขี้โกงหรอกครับ
  • ควรเลือกร้านที่มีช่างเลี่ยมอยู่ในร้านตัวเอง เพราะร้านบางร้านต้องส่งพระออกไปให้ช่างข้างนอกทำซึ่งจะเป็นอันตรายกับองค์พระได้
  • เลือกร้านที่ไม่ต้องฝากพระไว้ที่ร้าน เดี๋ยวนี้ร้านส่วนมากจะทำการวัดขนาดพระเก็บไว้แล้วคืนพระให้ลูกค้านำกลับบ้าน พอถึงวันที่กรอบพระหรือตลับพระทำเสร็จแล้ว จึงนัดลูกค้านำพระกลับมาที่ร้านเพื่อเลี่ยม หรือไม่บางร้านก็จะมีกรอบพระหรือตลับพระสำเร็จรูปพร้อมเลี่ยมเสร็จภายในไม่กี่ชั่วโมงเลย
  • นั่งเฝ้าช่างตอนเลี่ยมพระเลย ร้านส่วนมากจะสามารถให้ลูกค้านั่งเฝ้าดูช่างขณะเลี่ยมได้เลยหากลูกค้าต้องการ
  • ควรถ่ายรูปพระอย่างละเอียด ก่อนส่งมอบให้กับทางร้าน  (แนะนำให้ถ่ายในร้านให้เจ้าของร้านเห็นไปเลย) เพราะหากมีหลักฐานชัดเจนก็จะง่ายต่อการดำเนินคดี แต่ปัจจุบันนี้ร้านที่ดีส่วนมากก็จะถ่ายรูปพระของลูกค้าเก็บไว้เป็นหลักฐานเช่นกัน เพราะร้านก็กลัวลูกค้าจะมากล่าวหาเช่นกัน
  • เลือกร้านที่ไม่ใช่ร้านปล่อยเช่าพระ เพราะปกติแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่ร้านทอง หรือ ร้านเลี่ยมทั่วไปที่ไม่ได้เป็นร้านปล่อยเช่าพระ จะสามารถหาพระปลอมรุ่นเดียวกันพิมพ์เดียวกันมาได้ในเวลาอันสั้น ไม่มีใครเค้ามานั่งเก็บสต๊อกพระปลอมเพื่อเอาไว้สลับกับพระลูกค้ากันอยู่แล้ว
  • อย่าลืมขอใบรับสินค้า ทุกครั้ง พร้อมรูปถ่ายและรายละเอียด

ร้านเลี่ยมพระทำพระแตก พระหัก ชำรุด บิ่น หรือ พระเป็นรอย

2. พระแตก พระหัก ชำรุด บิ่น หรือ พระเป็นรอย

ผมเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ลูกค้ากังวลกันเป็นอันดับแรกๆเลย เพราะหากว่าพระชำรุดเสียหายขณะเลี่ยมขึ้นมาใครจะเป็นคนรับผิดชอบ และยิ่งราคาของพระนั้นขึ้นอยู่กับความพอใจล้วนๆทำให้การตกลงเรื่องค่าเสียหายเป็นไปได้ยาก (ช่างเลี่ยมจะระวังรักษาองค์พระได้ดีเท่ากับตัวเจ้าของที่บูชาเองได้ไงใช่ไหมหละ)

ก่อนอื่นเลยเรื่องพระแตก พระหัก บุบ เสียหาย เป็นรอย นั้นมักเกิดกับพระเนื้ออโลหะ เช่น เนื้อผง เนื้อดิน เนื้อว่าน ซึ่งจะเกิดในขั้นตอนการเลี่ยมพระพลาสติกกันน้ำ ส่วนเรื่องของสาเหตุนั้นผมได้อธิบายไว้ในอีกบทความคลิกเพื่ออ่านได้เลย

 “เลี่ยมพระแบบไหนดี มีกี่แบบ แนะนำ กรอบพระแบบต่างๆ ข้อดีข้อเสียของแต่ละแบบ”

นอกจากนี้แล้ว บางทีการชำรุดก็อาจจะเกิดจากความประมาทและความไม่ระมัดระวังไม่รักษาพระของช่างเลี่ยมพระได้ เช่น เผลอทำหลุดมือ เผลอเอานิ้วกดจมูกพระตอนวาดเส้นเปิดบล๊อกแรงเกินไปโดนที่ไม่มีผ้ามารองจนทำให้บริเวณนั้นบุบ เผลอวางพระไว้กับโต๊ะโดยไม่มีอะไรมารอง เผลอทำพระขูดขีดกับสิ่งของเช่นโต๊ะ เดินน้ำยาผสานพลาสติกไม่ดีทำให้น้ำยาอาจจะซึมไปเลอะองค์พระ หรือบางที มือช่างก็เลอะน้ำหมึกหรือเปื้อนอย่างอื่นแล้วดันเผลอไปจับองค์พระ

นอกจากความไม่ระมัดระวังไม่รักษาพระของช่างเลี่ยมแล้ว ยังจะมีกรณีที่มีผู้ไม่เกี่ยวข้องมาแตะต้ององค์พระด้วย เช่น เซียนพระระแวงนั้นขอเอาพระจากช่างมาวนส่องดูกัน หนักๆอาจถึงขั้นเอาเข็มเล็กมาขูดเพื่อดูเนื้อพระ

คำแนะนำ

  • ต้องประเมินสภาพเนื้อพระก่อนนำพระไปเลี่ยมทุกครั้ง ว่าควรจะเลี่ยมพลาสติกกันน้ำไหม
    • แต่โดยปกติร้านรับเลี่ยมจะประเมินความเสี่ยงให้ก่อนอยู่แล้ว ว่ามีความเสี่ยงที่จะชำรุดระหว่างเลี่ยมไหม เช่น ถ้าหากเป็นพระเนื้อผง ร้านก็จะไม่รับเลี่ยมกันน้ำให้ลูกค้า แต่จะแนะนำให้ใส่ตลับพระแทน เพราะในมุมของร้าน มันไม่คุ้มเลยที่จะไปเสี่ยงเพราะค่าแรงก็ไม่ได้มากนัก หากทำพระลูกค้าแตกขึ้นมาทีนึงเท่ากับว่ากำไรที่ร้านทำมาตั้งนาน กลายเป็นว่าต้องนำไปจ่ายค่าเสียหายหมดเผลอๆร้านจะขาดทุนเป็นหนี้ด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้ร้านหลายๆที่จึงแจ้งค่าชดเชยในกรณีที่พระชำรุดก่อนล่วงหน้าเลยในกรณีที่ลูกค้าต้องการจะทำและยอมรับความเสี่ยง
  • ควรถ่ายรูปพระอย่างละเอียดก่อนส่งมอบให้ทางร้านทุกครั้ง เพื่อเป็นหลักฐาน
  • แจ้งราคาองค์พระให้กับทางร้านก่อนล่วงหน้า (ปกติแล้วถ้าร้านเลี่ยมเห็นว่าเสี่ยงเค้าก็จะไม่รับทำอยู่แล้ว)
  • ควรนั่งเฝ้าช่างขณะเลี่ยม เพื่อป้องกันคนอื่นที่ไม่ใช่ช่างมายุ่งกับพระ และ ช่างจะได้ระมัดระวังมากขึ้น อย่างน้อยๆก็คงไม่กล้าทำตก

ร้านเลี่ยมพระ โดนโกงน้ำหนักทอง

3. โดนโกงน้ำหนักทอง

เชื่อว่าหลายคนเวลาไปซื้อกรอบพระทองคำ ตลับพระทองคำ มักละเลยไม่สังเกตดูน้ำหนักทองที่ทางร้านชั่ง ซึ่งบางร้านอาจจะถือโอกาสนี้โกงน้ำหนักทองได้ หรือลูกค้าบางคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมน้ำหนักทองหายไป ทำไมได้น้ำหนักทองไม่เต็ม และทำไมต้องมีการคิด%น้ำหนักทองเพิ่มด้วย

แต่ก่อนอื่นเลยลูกค้าต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเวลาลูกค้าสั่งทำกรอบพระตลับพระอะไรก็แล้วแต่ น้ำหนักทองสุทธิของกรอบและตลับจะต้องน้อยกว่า น้ำหนักทองที่ร้านค้านำมาใช้คิดราคาคุณลูกค้าอยู่แล้ว เพราะว่าเวลาที่ทำเครื่องประดับนั้น ช่างจะต้องนำตัวเรือนทองดิบๆมาเจียร เจาะรู แกะลาย และอื่นๆมากมาย ซึ่งเป็นธรรมดาที่น้ำหนักทองจะหายไป เพราะทองบางส่วนก็กลายเป็นฝุ่นผงหายไป เป็นที่มาของคำว่าค่าซิ้หรือค่าสึกหรอ

คำแนะนำ

  • ก่อนนำพระเลี่ยมใส่กรอบพระหรือตลับพระ ควรถามทางร้านว่าคิดค่าซิ้กี่เปอร์เซนต์ และให้ทางร้านช่วยชั่งน้ำหนักของกรอบทองหรือตลับทองเปล่าๆแบบไม่รวมพระและพลาสติกให้ดูก่อน แล้วก็เปรียบเทียบว่าค่าซิ้ น้ำหนักกรอบ และ ราคาที่คิด นั้นสัมพันธ์กันไหม เช่น
    • สมมติ ชั่งน้ำหนักกรอบทองคำสุทธิได้ 10 กรัม และร้านบอกว่ามีค่าซิ้ 10%
    • ค่าซิ้ 10% จะเท่ากับ ทองคำ 1 กรัม (จาก 10 x 0.1)
    • เพราะฉะนั้นร้านจะต้องคิดราคาลูกค้าด้วย น้ำหนักทอง 11 กรัม
  • ทางร้านทองหรือหร้านเลี่ยมควรจะวางตาชั่งให้ลูกค้าเห็นอย่างโปร่งใส่ หากร้านไหนเก็บตาชั่งไว้ใต้ตู้ทองก็ควรจะเอามือถือถ่ายรูปน้ำหนักให้ลูกค้าดู
  • หากเป็นพวกงานสั่งทำ ร้านควรจะชี้แจงเรื่องน้ำหนักทองโดยประมาณให้ลูกค้าทราบล่วงหน้า ส่วนเรื่องราคาทองนั้นจะล๊อกราคาทองของวันที่สั่ง หรือ ไปใช้ราคาทองของวันที่ไปรับของก็ได้แล้วแต่ลูกค้า
  • พยายามพูดให้เหมือนคนมีความรู้ด้านนี้ ร้านจะได้ไม่กล้าโกง หรือ มั่วนิ่ม

ร้านเลี่ยมพระใช้ ทองเปอร์เซนต์ต่ำ (ทอง%ต่ำ)

4. ร้านใช้ ทองเปอร์เซนต์ต่ำ (ทอง%ต่ำ)

โดยปกติแล้วลูกค้ามักจะถามว่า “กรอบพระทองแท้ ดูยังไง และจะกังวลเรื่องทองปลอมอย่างเดียว (ซึ่งไม่ค่อยมีร้านไหนทำหรอกครับ มันตรวจสอบง่ายและเสี่ยง) แต่มักจะละเลยเรื่องการโกงเปอร์เซนต์ทอง ปัจจุบันร้านทองและร้านเลี่ยมพระที่ไม่มีจรรยาบรรณมักจะทำกรอบพระตลับพระด้วยทอง%ต่ำ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ร้านท้าวสยามขอบอกเลยว่าไม่มีร้านไหนโฆษณาว่าร้านตนเองใช้ทอง%ไม่ดีหรอกครับ

ก่อนอื่นร้านท้าวสยามต้องบอกก่อนว่า %ทอง นั้นคือเปอร์เซนต์ความบริสุทธิ์ของทอง เช่น ทอง90%คือในเนื้อโลหะมีทองคำบริสุทธิ์อยู่90%ส่วนอีก10%จะเปนโลหะชนิดอื่นผสมอยู่ ซึ่งหากเป็นทองเปอร์เซนต์ต่ำ เมื่อใช้ไปนานๆจะพบว่ามีปัญหา ทองดำ ทองเขียว ทองสีซีดลง และเวลาที่นำไปขายร้านทองจะโดนกดราคาให้ต่ำลงอีกด้วย

แล้วทอง%เท่าไรถึงเรียกว่าต่ำหละ? ร้านท้าวสยามขอตอบตามความจริงว่า กรอบพระตลับพระนั้นไม่ใช่ทองรูปพรรณที่จะมาใช้ทอง 96.5% หรอก ซึ่งโดยตามที่ สคบ. กำหนดนั้นเครื่องประดับทองคำ (เช่น กรอบพระ ตลับพระ งานทองสั่งทำ จิวเวลรี่เพชร อื่นๆ) จะต้องมี เปอร์เซนต์ทองสูงกว่า 75% ถ้าต่ำกว่านี้จะถือว่าไม่ได้มาตรฐาน โดยทั่วไปแล้วร้านทองในไทยส่วนมากจะใช้%ทองประมาณ 75% – 80% – 90% ในการทำ สำหรับคนไทยแล้วก็มักจะพูดเหมารวมว่า ทอง90 ไปเลย แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผ่านมาหาก %ทองมากกว่า75%แล้วละก็จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการใช้งาน แต่ลูกค้าก็ต้องเข้าใจว่าร้านค้าปกติจะคิดราคาทอง90%อยู่แล้วถึงแม้จะใช้ทอง75%ก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องปกติมากๆ ลูกค้าลองเดินเข้าร้านทองชื่อดังต่างๆในห้างได้เลย บางร้านก็จะบอกว่าใช้ทอง 75% ตรงๆ แต่บางร้านก็จะบอก 90% แต่เอาจริงๆแล้ว ส่วนมากก็จะใช้ทอง 75% แล้วคิด 90% กันหมดแหละ

สิ่งที่ต้องระวังจริงๆคือพวกร้านแย่ๆที่เอา%ทอง 50%-60% มาใช้ หรือไม่บางร้านที่แย่กว่านั้นคือใช้ทองปลอมหรือทองชุบเลย ซึ่งบอกเลยว่าใช้แล้วมีปัญหาแน่นอน

ข้อแนะนำ

  • อย่าเชื่อคำโฆษณา เพราะร้านส่วนมากก็บอกว่าตัวเองใช้ ทอง90% กันหมดแหละครับ
  • คุยกับร้านเรื่อง เปอร์เซนต์ทอง ให้ชัดเจนก่อน แต่ลูกค้าก็ต้องยอมรับว่า ราคาจะต้องสูงขึ้นตาม%ทองที่มากขึ้นนะครับ
  • เลือกร้านที่รับซื้อสินค้าของร้านตนเองคืน หรือ รับเทิร์นของคืน ในราคาสูง เพราะว่าหากร้านนั้นยอมรับซื้อกรอบพระตลับพระที่ผลิตจากร้านตรเองคืนในราคาสูง แสดงว่าทางร้านต้องมั่นใจในเปอร์เซนต์ทองของร้านตนเองอยู่แล้วถึงได้กล้ารับซื้อคืน
  • พวกร้านที่ขายขาดแบบไม่รับคืนนั้นอาจะเป็นร้านที่ไม่ใช่ผู้ผลิตเองแต่เป็นร้านที่รับจากหลายๆที่มาขายต่ออีกที หรือไม่ก็ใช้ เปอร์เซนต์ทองไม่ดี เลยไม่อยากรับซื้อคืนเพราะเวลาเอาไปหลอมก็จะได้มูลค่าไม่ดี แนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงดีกว่าครับ
  • ส่วนมากร้านใหญ่ เค้าจะออกใบรับประกันสินค้าให้อยู่แล้ว แต่ถ้าหากว่าลูกค้ายังไม่เชื่อใจก็สามารถนำกรอบพระของท่านไปให้ร้านที่รับเช็ค%ทอง ตรวจดูให้ก็ได้ครับ เดี๋ยวนี้เค้าใช้เครื่องสแกนตรวจแปปเดียวและค่าบริการถูกๆครับ

ร้านเลี่ยมพระใช้ เพชรปลอม หรือ เพชรเกรดต่ำ

5. เพชรปลอม หรือ เพชรเกรดต่ำ

เรื่องเพชรนั้นเป็นเรื่องที่ลูกค้าโดนโกงเจ็บตัวกันมาเยอะ ร้านท้าวสยามบอกได้เลยครับว่าลูกค้าทั่วไปไม่มีทางแยกเพชรแท้หรือปลอมออกได้แน่นอนครับ ขนาดคนที่ชำนาญยังมีสิทธิ์โดนหลอกเลยครับ และถึงแม้ว่าจะเป็นเพชรแท้ แต่เพชรนั้นมีหลายเกรดมากๆ ทั้งสี/น้ำ ความสะอาด และ เหลี่ยมมุม โดยทั่วไปแล้วร้านทองร้านเลี่ยมพระจะนิยมซื้อเพชรขนาดไม่กี่ตังมาในปริมาณมากในแต่ละรอบเพื่อที่จะได้ราคาส่งจากผู้ผลิต ซึ่งก็จะมีตั้งแต่กระรัตละหลายพัน จึงถึงหลักหมื่นขึ้นไป

ร้านส่วนใหญ่จะนิยมใช้เพชรที่มี น้ำสวยมาก แต่ ความสะอาดและการเจียระไนดีระดับกลางๆ เพื่อลดต้นทุน เพราะในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่เรามองเห็นได้ด้วยตาเปล่านั้นก็จะมีแค่ สี/น้ำ นี่แหละครับ ส่วนเรื่องความสะอาดนั้นต้องใช้กล้องส่องเท่านั้นถึงจะเห็น

มีคำถามเข้ามามากว่า “ทำไมร้านเลี่ยมพระถึงไม่ใช้เพชรที่มีใบ certificate หละ?” คำตอบคือ เพชรที่ใช้ในกรอบพระหรือตลับพระ ส่วนมากจะเป็นเพชรร่วงเม็ดเล็กขนาด 3 – 10 ตัง ซึ่งทั่วไปใบ certificate นั้นมักจะทำให้กับเพชรที่มีขนาด 18 ตังขึ้นไปที่มีเกรดสวยๆ เพราะค่าใช้จ่ายในการส่งเพชรแต่ละเม็ดให้ lab ออกใบให้นั้นค่อนข้างสูง ซึ่งจะไม่คุ้มกับการลงทุน

จากประสบการณ์มีลูกค้าหลายคนที่เคยไปทำกรอบพระตลับพระมาแล้วโดนโกงทั้งเพชรปลอม และ เพชรเกรดต่ำ แต่ส่วนใหญ่จะหนักไปทางเพชรเกรดต่ำซะมากกว่า เพราะร้านที่ใหญ่ในระดับนึงก็จะไม่กล้าใช้เพชรปลอมกันหรอก ส่วนใหญ่จะใช้เพชรเกรดต่ำให้มากกว่า

คำแนะนำ

  • อย่าเชื่อคำโฆษณามาก เพราะว่าจากประสบการณ์ที่เห็นๆมา ร้านเพชรตาม Facebook ที่ไม่ใช่แบรนด์ดังส่วนใหญ่แล้วอาจจะเขียนโฆษณากันเกินจริง เช่น น้ำ 95 ก็มาบอกว่า น้ำ99 ความสะอาด VS ก็บอกว่าเป็น VVS หรือที่แย่กว่านั้นก็คืออาจจะโกงน้ำหนักเพชรเลย เอาจริงๆบอกได้ยากมากเลยว่า ร้านไหนไว้ใจได้ เพราะหากไม่ใช่ร้านเพชรใหญ่อย่างเช่น Jubilee Ananta ก็คงจะมั่นใจได้ยากหน่อย (แต่ร้านเพชรที่ไม่ใช่แบรนด์ใหญ่ แต่ดีจริงๆก็มีอยู่นะ)
  • เลือกร้านที่มีการออกใบรับประกันให้ว่าเป็นเพชรแท้ เพราะหากลูกค้าเอาตรวจสอบกับร้านเพชรหรือ ห้องแลป แล้วเจอว่าเป็นของปลอม จะได้นำกลับไปคืนได้และเรียกร้องค่าชดเชยได้
  • หากลูกค้าคิดว่าในอนาคตมีโอกาสที่จะต้องนำกรอบพระหรือตลับพระไปขาย ร้านท้าวสยามขอแนะนำว่า อย่าทำกรอบพระตลับพระแบบฝังเพชรเลยจะดีกว่า เพราะ เพชรนั้นเป็นอะไรที่ขายยาก โดนกดราคา แถมร้านส่วนมากจะไม่รับซื้อด้วย แต่ถ้าหากจะซื้อเพื่อเก็บหรือใช้เองก็ลุยเลยครับ
  • หากร้านคิดราคาแพง แต่ดันใช้เพชรยังดูมีสีอมเหลือง ให้เดาก่อนเลยว่าเริ่มแย่ละครับ เพราะอย่างที่บอกไปว่าร้านทองร้านเลี่ยมพระส่วนมากจะใช้ความสำคัญกับเรื่องสีเป็นหลัก เพราะฉะนั้นหาก แค่สียังแย่ เรื่องความสะอาดนี่คงไม่ต้องพูดถึง (แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาเลยนะครับ เพราะหากราคาถูก จะมาเอาเพชรขาวๆจั๋วก็คงไม่ได้หรอกครับ)

ร้านเลี่ยมพระทำงานไม่เรียบร้อย และ ไม่ตรงตามแบบที่ตกลงกันไว้

6. งานไม่เรียบร้อย และ ไม่ตรงตามแบบที่ตกลงกันไว้

งานกรอบพระตลับพระ หากดูผิวเผินรูปแบบงานจะดูคล้ายๆกันไปหมด แต่จริงๆแล้วจะแตกต่างกันที่ประเภท ความละเอียด ความประณีต และ ความเรียบร้อย เช่น การแกะลายที่ประณีตไม่เท่ากัน บางร้านลายดูหยาบ แต่บางร้านลายดูลื่นพริ้วสวย หรือ แม้กระทั่งฝีมือการเลี่ยมกันน้ำ การพับหลัง การรองผ้าหนัง ซึ่งแต่ละร้านจะมีฝีมือไม่เท่ากันกัน อีกทั้งจริงๆแล้วการเลี่ยมพระนั้นมีรูปแบบและลูกเล่นการตกแต่งให้เลือกเยอะมากๆ

ที่ผ่านมาเคยลูกค้ามาบ่นให้ฟังเยอะมากว่า นำพระไปเลี่ยมมาแล้วเจอร้านเลี่ยมไม่ดีจึงได้งานไม่ดี ไม่สวย ไม่ถูกใจ งานไม่เรียบร้อย หรือบางทีก็เจอกับช่างเลี่ยมฝีมือห่วยบ้าง นอกจากนี้ยังเจอบางร้านที่ไม่ใส่ใจลูกค้า ทำผิดแบบ ผิดข้อตกลง งานไม่ตรงตามแบบที่ตกลงกันไว้ สั่งอย่างทำอีกอย่าง พอทำผิดพลาดก็ไม่มีความรับผิดชอบ จึงลูกค้าต้องเสียความรู้สึกไปตามๆกัน

ข้อแนะนำ

  • ก่อนตัดสินใจนำพระไปเลี่ยม
    • ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเลี่ยมพระเบื้องต้นก่อนเพื่อที่จะได้รู้ว่าตัวเองชอบงานประเภทไหนแบบไหนจะได้คุยกับร้านเลี่ยมให้ชัดเจน เช่น จะใส่กรอบหรือตลับหรือเลี่ยมเปลือย, แกะลายแบบไหน, ลงยาล้อมเพชรไหม เอาหูห่วงแบบไหน หรือจะ ยกซุ้ม ปะลายเพิ่มไหม และอื่นๆอีกมากมาย
  • วันที่ไปสั่งงานที่ร้าน
    • ควรคุยกับร้านให้ชัดเจน ชอบหรือไม่ชอบอะไรต้องบอกให้เคลียร์ ก่อนวางมัดจำ และ เริ่มงาน เช่น ยกซุ้มไหม? แกะลายไหม? ลงยารึป่าว? (ไม่ใช่ว่ารอร้านทำเสร็จแล้วค่อยมาบอกทีหลัง ในกรณีนี้ร้านไม่ผิดนะครับ)
    • ให้ทางร้านเขียนรายละเอียดให้ชัดเจนลงในใบสั่งทำ หรือ ใบสั่งของและรับของ แต่โดยปกติแล้วทางร้านค้าก็กลัวฝ่ายลูกค้ามากล่าวหาเช่นกัน เพราะฉะนั้นร้านท้าวสยามจึงลงรายละเอียดชัดเจน พร้อมขอลายเซ็นรับรองจากลูกค้าก่อนเริ่มงานเสมอ
  • วันที่ไปรับงานที่ร้าน
    • ก่อนเซ็นรับสินค้า ให้ตรวจดู ลายแกะ มุม หรือ ขอบต่างๆ ว่ามีการชำรุดไหม มีส่วนไหนยังคมอยู่ไหม เพราะบางทีอาจจะตะไบไม่เรียบร้อย และโดยเฉพาะพวกฝาพับ และ เดือยต่างๆ ให้ตรวจสอบว่าสามารถใช้งานได้จริงๆไม่มีปัญหา
      • ในขณะที่ตรวจสอบสินค้าให้ใจเย็นๆไม่ต้องรีบนะครับ เพราะมันเป็นสิทธิ์ของลูกค้าครับ
    • หากงานที่ได้ไม่ตรงตามแบบที่ตกลงไว้ ก็ให้ใช้ใบสั่งทำสินค้า มาเป็นหลักฐานยืนยันเลยครับ
      • แต่จริงๆงานเลี่ยมพระเป็นงานขึ้นมือเพราะฉะนั้นเรื่องลวดลายจะทำให้เป๊ะๆมันคงไม่ได้นะครับเพราะมันขึ้นอยู่กับศิลปะของช่างแต่ละคน แนะนำให้ลูกค้าโฟกัสในเรื่องที่เด่นๆดีกว่านะครับ เช่น จะปะซุ้มแบบไหน ลงยาฝังเพชรไหม

เลี่ยมพระกันน้ำ แล้วน้ำซึม หรือ มีไอน้ำ

7. เลี่ยมพระกันน้ำ แล้วน้ำซึม หรือ มีไอน้ำ

ในเรื่องของน้ำซึมกรอบพระพลาสติกกันน้ำ หากไม่ได้เกิดจากการชำรุดแตกบิ่น ส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่ช่างเลี่ยมไม่ดี เช่น เผื่อพื้นที่ผิวที่บริเวณขอบน้อยเกินไป , เดินน้ำยาผสานพลาสติกไม่ดี ไม่เสมอ มีฟองอากาศ , หรือ กดฝาไม่ตั้งฉาก (ขอบฝาพลาสติกไม่ตั้งฉาก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เดินยาน้ำได้ไม่ทั่วถึงซึ่งทำให้เกิดฟองอากาศและช่องว่าง)

ในเรื่องการที่เกิดไอน้ำขึ้นในกรอบพระพลาสติกเวลาที่เจออากาศร้อนๆ หลังจากเลี่ยมเสร็จและใช้ไปสักพัก ส่วนมากจะเกิดจากการที่นำองค์พระที่ไม่แห้งสนิทมาเลี่ยม จะพบได้บ่อยกับพระจำพวกเนื้ออโลหะ เช่น เนื้อผง เนื้อดิน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ควรมองข้าม เพราะ หากไอน้ำกลั่นตัวเป็นหยดลงไปบนผิวพระเฉพาะส่วน อาจจะทำให้เสียหายได้

ข้อแนะนำ

  • ต้องมั่นใจว่าเนื้อพระแห้งสนิทก่อนนำไปเลี่ยม โดยจะวิธีที่ใช้ทั่วๆไป เช่น นำองค์พระเก็บไว้ในกล่องที่ใส่ซองดูดความชื้อไว้ หรือ กลบด้วยข้าวสารแห้งแล้วเก็บไว้ในภาชนะซัก 2-3 คืน หรือ ไม่ก็นำไปผึ่งลม
  • ในส่วนช่างเลี่ยมกันน้ำ ลูกค้าอาจจะต้องกำชับเรื่องนี้ให้ช่างระมัดระวังมากขึ้น หรือไม่ก็เลือกร้านที่คิดว่าตนเองไว้ใจ

โดนโกงราคา คิดราคาแพงเกิน

8. โดนโกงราคา คิดราคาแพงเกิน

จริงๆแล้วผมไม่อยากให้คุณลูกค้าใช้เรื่องราคามาเป็นตัวตัดสินใจในการซื้ออย่างเดียว เพราะว่าต่อให้เป็นกรอบพระหรือตลับพระแบบเดียวกันเป๊ะๆแต่เรื่องราคานั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายมาก เช่น %ทอง คุณภาพเพชร รูปแบบการประดับตกแต่ง ความสวยและประณีตของตัวงาน ซึ่งแต่ละร้านมีไม่เท่ากันอยู่แล้ว และเป็นธรรมดาที่งานที่ประณีตมาก จะต้องมีค่าแรงที่สูงกว่างานทั่วๆไป

แต่ถึงอยากไรก็ตาม โดยทั่วไปก็จะมีร้านเลี่ยมพระที่บวกกำไรเยอะคิด โกงราคา คิดราคาแพง กับ ร้านที่บวกกำไรปกติ หรือ บวกน้อย แต่หลักการคิดราคาก็จะค่อนข้างมีรูปแบบมาตรฐานอยู่ เช่น คิดราคาทองตามน้ำหนักตัวเรือนสุทธิ(คิดแบบ 80%, 90% หรือ 100%) + ค่าแรง + ค่าเพชร + ค่าบริการอื่นๆ + ค่าซิ้ที่ทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 15%-20% แล้วแต่ประเภทของชิ้นงาน ร้านท้าวสยามไม่ขอตัดสินว่าร้านไหนถูกหรือแพงละกัน เวลาซื้อลูกค้าก็ลองทำการประเมินราคาคร่าวๆดูก่อนละกันครับว่าราคาเวอร์เกินไปรึป่าว

คำแนะนำ

  • เพื่อเปรียบเทียบราคาของแต่ละร้าน ให้ลองเข้าตามเว็บไซต์ของแต่ละร้านเพื่อสำรวจราคาตลาดเบื้องต้นแล้วลองเลือกร้านในใจมาสัก 2-3 ร้าน หลังจากนั้นให้ลองหารูปงานตัวอย่างกรอบหรือตลับพร้อมกับขนาด แล้วลองส่งไปให้แต่ละร้านประเมินราคาดู แต่อย่าลืมใส่ใจในเรื่องของ %ทองที่ใช้จริงๆ คูณภาพเพชร ความสวยของงาน และ ฝีมือช่างด้วยนะครับ เพราะอาจจะเจองานถูกแต่คุณภาพต่ำได้นะครับ
  • เลือกร้านที่เป็นผู้ผลิตเองก็จะดี เพราะ ราคาจะได้ไม่ต้องถูกบวกเพิ่มจากพ่อค้าคนกลางมาอีกทอดนึง
  • พยายามเลือกร้านที่รับซื้อคืนในราคาสูงนะครับ เพราะ กรอบพระตลับพระไม่ใช่ทองรูปพรรณ เวลาที่นำไปขายกับร้านอื่นอาจจะโดนหักเยอะนะครับ ปกติแล้วซื้อร้านไหนก็ขายคืนร้านนั้นครับจะได้ราคาดีสุด
  • คุยกับร้านให้ชัดเจนว่า จะล๊อกราคาทองในวันที่สั่งทำ หรือ จะใช้ราคาทองในวันที่รับของนะครับ

9. ร้านใช้กรอบพระมือสอง หรือ ตลับพระมือสอง

โดยทั่วไปแล้วร้านทองร้านเลี่ยมพระ ก็จะมีการรับซื้อหรือรับเทิร์นกรอบพระหรือตลับพระจากลูกค้าบ้าง ซึ่งตามหลักแล้วร้านก็จะต้องนำของเหล่านี้ไปคัดแยกและหลอมทิ้ง แต่บางทีก็จะมีกรณีที่ว่าตลับพระหรือกรอบพระมือสองเหล่านี้มีสภาพดีไม่มีตำหนิ ร้านก็อาจจะนำมาวนขายให้ลูกค้าต่อเลยเพื่อที่จะประหยัดค่าแรงช่าง ซึ่งหากจะให้เป็นการโกงจนเกินไป อย่างน้อยๆร้านก็ควรจะแจ้งกับลูกค้าตรงๆ และ นำไปขัดชุบและทำความสะอาดให้ใหม่ หรือไม่ก็มอบส่วนลดพิเศษให้กับลูกค้า

แต่ร้านท้าวสยามขอบอกคุณลูกค้าเลยว่า จริงๆแล้วมือหนึ่งหรือมือสองไม่ได้มีความสำคัญเท่าไร เพราะยังไงทองคำก็เป็นทองคำอยู่ดี หากว่าของสภาพดีใหม่ไม่มีตำหนิ %ทองสูง เพชรสวย งานสวยถูกใจ ก็ซื้อได้นะครับไม่ต้องกลัว

ข้อแนะนำ

หากเป็นสินค้ามือหนึ่ง เนื้อทองจะยังคงสดใหม่เงาวาว ลายแกะจะดูคมชัด บริเวณผิวจะไม่มีรอยบุบ รอยขนแมวและรอยชำรุด ยิ่งบริเวณข้อต่อบานพับต่างๆซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเสียดสีบ่อยๆโดยเฉพาะบริเวณหูห่วงจะดูใหม่ไม่มีรอยถลอกจากการใช้งาน ทั้งนี้หากเป็นกรอบพระจะดูง่ายมากๆ เพราะว่า กรอบพระจะต้องไม่มีร่องรอยการพับหลังมาก่อน

Content Protection by DMCA.com

About The Author

error: Thaosiam ไม่อนุญาตให้คัดลอกข้อมูล
Scroll to Top