เลี่ยมพระแบบไหนดี มีกี่แบบ แนะนำ กรอบพระแบบต่างๆ ข้อดีข้อเสียของแต่ละแบบ

Table Of Contents
  1. เลี่ยมพระมีกี่แบบ ควรเลี่ยมแบบไหนดี
  2. 1.) เลี่ยมพระกันน้ำ หรือ เลี่ยมพระพลาสติก คืออะไร?
  3. 2.) กรอบพระมีกี่แบบ ควรเลี่ยมกรอบพระแบบไหนดี ?
  4. 3.) ตลับพระมีกี่แบบ และ มีข้อดีอย่างไร
  5. 4) ข้อแตกต่างระหว่าง กรอบพระ และ ตลับพระ
  6. 5) กรอบพระ และ ตลับพระ ใส่รูปแบบ ดีไซน์ ลูกเล่นอะไรได้บ้าง ?
  7. 6.) เลี่ยมตะกรุด แบบไหนดี
  8. 7.) เลี่ยมกระเช้า หรือ เลี่ยมเปลือย
  9. 8.) เลี่ยมเครื่องประดับ และ กล้องส่องพระ
  10. 9.) พระผงเลี่ยมแบบไหนดี (คำถามยอดนิยม)
  11. บทสรุป
เลี่ยมพระแบบไหนดี มีกี่แบบ แนะนำ กรอบพระแบบต่างๆ ข้อดีข้อเสียของแต่ละแบบ

จากประสบการณ์ที่ทำงานในวงการพระนี้มาทางร้านมักจะเจอลูกค้านอกวงการตั้งคำถามว่า เลี่ยมพระแบบไหนดี มีกี่แบบ มีแบบไหนบ้าง ทางร้านท้าวสยามจึงขอถือโอกาสเขียนบทความนี้เพื่อให้ความรู้อย่างละเอียดแก่คนที่คิดจะนำพระไปเลี่ยม เพื่อที่ลูกค้าจะได้ไปสื่อสารกับร้านหรือช่างเลี่ยมพระได้อย่างถูกต้อง

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าการเลี่ยมพระนั้นมีหลายแบบมากๆ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุมงคลที่ลูกค้าจะนำมาเลี่ยม เช่นถ้าเป็นองค์พระก็ต้องเลี่ยมกรอบหรือตลับ แต่ถ้าเป็นของขลังอย่างเช่น เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมูตัน มีดหลวงพ่อเดิม กุมาร ปลักขิก ก็ต้องเลี่ยมกระเช้าหรือเลี่ยมเปลือยถึงจะเหมาะสม โดยก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย ในบทความนี้เราจะแนะนำ รูปแบบการเลี่ยมพระทั้งหมด กรอบพระแบบต่างๆ ตลับพระทุกชนิด การใส่รูปแบบตกแต่งและลูกเล่นต่างๆ และ เปรียบเทียบความแตกต่าง ข้อดีและข้อเสียของการเลี่ยมพระแต่ละประเภท อีกทั้งยังแนะนำข้อควรระวังต่างๆ อีกด้วย

หากอ่านบทความนี้จนจบร้านท้าวสยามคาดว่าคุณลูกค้าจะสามารถตอบคำถามพื้นฐานเหล่านี้ได้ เช่น เลี่ยมพระแบบไหนดีถึงจะเหมาะสมกับวัตถุมงคลแต่ละประเภท กรอบพระมีกี่แบบ ตลับพระมีแบบไหนบ้าง แต่ละแบบต่างกันอย่างไร และ พระผงเลี่ยมแบบไหนดีถึงจะปลอดภัยที่สุด

“นี่เป็นบทความแนะนำ การเลี่ยมพระ ทุกแบบทุกประเภท กรอบพระ ตลับพระ ทุกแบบ ที่สมบูรณ์และครบที่สุดในไทย อ่านที่เดียวจบแน่นอน”

ท้าวสยาม


เลี่ยมพระมีกี่แบบ ควรเลี่ยมแบบไหนดี

จริงๆแล้วการเลี่ยมพระนั้นไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นองค์พระอย่างเดียว แต่จะเป็นวัตถุมงคล ของขลัง หรือสิ่งของชนิดใดก็ได้ เช่น รูปภาพ แหวนพระ เลสพระ กำไลพระ มีดหมอ เขี้ยวเสื้อ ผ้ายันต์ หนังเสือ ลูกอมชานหมาก หรือแม้กระทั่ง กล้องส่องพระ  ซึ่งแต่ละรูปแบบก็จะมีข้อจำกัดในเรื่องของ ประเภทวัตถุ ขนาด และ รูปทรง แต่โดยหลักๆแล้วประเภทของการเลี่ยมพระ ก็จะถูกแบ่งออกเป็นหมวดหมู่หลักๆดังต่อไปนี้

  1. เลี่ยมพระพลาสติกกันน้ำ เปล่าๆ
  2. เลี่ยมกรอบพระ
  3. เลี่ยมตลับพระ
  4. เลี่ยมตะกรุด
  5. เลี่ยมกระเช้า หรือ เลี่ยมเปลือย
  6. เลี่ยมเครื่องประดับ หรือ อุปกรณ์

ร้านท้าวสยามจะเจาะลึกลงไปในแต่ละแบบเพื่อเปรียบเทียบ และ แสดงข้อดีข้อเสีย ข้อจำกัด ของแต่ละแบบในย่อหน้าต่อๆไป

การเลี่ยมพระทั้ง 6 ประเภท

1.) เลี่ยมพระกันน้ำ หรือ เลี่ยมพระพลาสติก คืออะไร?

เลี่ยมพระกันน้ำ หรือที่บางคนเรียกว่า เลี่ยมพระพลาสติก หรือ อัดกรอบพระพลาสติก คือการนำพระหรือวัตถุมงคลเข้าไปอยู่ในกรอบพลาสติก โดยที่ตัวกรอบนั้นจะถูกทำพิมพ์ขึ้นมาในขนาดและรูปทรงที่พอดีกับองค์พระนั้นๆของลูกค้า หลังจากที่เลี่ยมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตัวกรอบจะสามารถกันน้ำได้ 100% (หากไม่มีการชำรุดหลังจากการเลี่ยม) โดยปกติแล้วหลังจากที่อัดพลาสติกกันน้ำแล้วก็จะนิยมนำไปใส่กรอบพระหรือตลับพระต่อ แต่ช่วงหลังๆมานี้ก็จะมีการเลี่ยมแบบหน้ากากลายฉลุซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการนำไปใส่กรอบอยู่เหมือนกัน

Note: คนส่วนมากมักเข้าใจผิดว่า วัสดุที่ใช้ในการเลี่ยมพลาสติก คือพลาสติก แต่ความเป็นจริงแล้วมันคือ อะคริลิก ซึ่งเป็นวัสดุที่มีคุณภาพและแข็งแรงกว่าพลาสติกอย่างมาก แต่เพื่อความง่ายในการอธิบายร้านท้าวสยามขออนุญาตเรียกว่าพลาสติกไปเลยละกัน


1.1) ข้อดีข้อเสียของการเลี่ยมกันน้ำ

1.1.1) ข้อดี

  • ช่วยรักษาสภาพของพระได้เป็นอย่างดี สามารถกันน้ำได้ 100% (หากการเลี่ยมไม่มีข้อผิดหลาด) จึงสามารถใส่ อาบน้ำ ลุยน้ำ ลุยฝน ลุยเหงื่อ ตามอย่าหมดห่วง
  • สามารถนำไปเข้ากรอบหรือตลับต่อได้
  • ราคาไม่แพง

1.1.2) ข้อเสีย และ ข้อควรระวัง

  • ไม่เหมาะกับ พระที่มีเนื้อเปราะบาง เช่น เนื้อผง เนื้อดิน เนื้อว่าน เรามาดูเหตุผลในย่อหน้าต่อไปได้เลยครับ

1.2) 5 เหตุผลว่าทำไม พระเนื้อผงไม่ควรเลี่ยมพลาสติกกันน้ำ

มีคำถามว่า พระเนื้อผงเลี่ยมกันน้ำได้ไหม ? เข้ามามาก  คำตอบคือ สามารถทำได้ แต่การเลี่ยมกันน้ำนั้นไม่แนะนำสำหรับพระเนื้อเปราะ เช่น เนื้อผง เนื้อดิน เนื้อว่าน เพราะว่า…

  1. ความเสี่ยงขณะเลี่ยม : ในระหว่างขั้นตอนการเลี่ยม มีความเสี่ยงที่พระจะ แตก หัก บิ่น ราน เป็นรอย ชำรุด ยุบจากการกดโดยเฉพาะส่วนที่นูนเช่นจมูก และ เลอะน้ำยาบริเวณขอบ เพราะว่า องค์พระจะต้องถูกกดอัดเข้าบล๊อกพิมพ์ร้อนๆ, โดนแรงบีบจากการหดตัวของกรอบพลาสติกหลังจากเย็นลง, อาจจะโดนน้ำยาเชื่อมอะคริลิกซึมเข้ามาโดนในระหว่างการเดินน้ำยา และ รับแรงสั่นสะเทือนระหว่างการเจียรแต่งขอบพลาสติก
  2. ความเสี่ยงขณะนำพระออกจากกรอบพลาสติกเมื่อพลาสติกเดิมเก่า : หากในอนาคตกรอบพลาสติกร้าวหรือเก่าลง ต้องนำมาเลี่ยมกรอบพลาสติกใหม่อีกรอบ โดยจะต้องแกะพระออกจากกรอบพลาสติกของเก่าก่อน และ ทำการเลี่ยมใหม่อีกรอบ ซึ่งก็เป็นขั้นตอนที่มีความเสี่ยงทั้งคู่ (ท้าวสยามขอบอกเลยว่า ขั้นตอนการรื้อหรือแกะพลาสติกเก่า นั้นยากและต้องอาศัยช่างที่ชำนาญจริงๆถึงจะปลอดถัย)
  3. ความชื้นตกค้างในพระ ในกรณีถ้าเนื้อพระ มีความชื้นตกค้าง แล้วนำไปเลี่ยมพลาสติกกันน้ำ เมื่อใช้ไปสักระยะหนึ่งจะเกินไอน้ำเกาะที่พลาสติกขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าต้องมานั่งเรื้อพลาสติกออกแน่นอน ซึ่งมีความเสี่ยงตามข้อที่ 1 และ 2 อีก
  4. ความใหม่ไม่ได้ดูขลังและเนื้อพระจะไม่แกร่ง : สำหรับพระบางชนิด หากเนื้อพระและสียิ่งเก่าจะยิ่งดี หากอัดกรอบพลาสติกไว้ พระจะไม่ได้สัมผัสอากาศและความชื้นเลย จึงทำให้พระดูใหม่อยู่ตลอดเวลาซึ่งอาจจะกลายเป็นข้อเสียได้ นอกจากนี้หากไม่เลี่ยมกันน้ำองค์พระจะได้สัมผัสสภาพอากาศและความชื้นนิดหน่อยตามธรรมชาติบ้างจะช่วยให้เนื้อพระมีความแกร่งและแข็งขึ้นตามกาลเวลาซึ่งเป็นเรื่องที่ดี
  5. พระระเบิด แตกราน : หากเลี่ยมกันน้ำ เมื่อใช้ไปนานๆ พระอาจจะมีโอกาสแตก และ ราน ได้ เนื่องจาก การหดตัวและขยายตัวของพลาสติกทีละเล็กละน้อยเนื่องจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้เคยมีเซียนพระท่านหนึ่งบอกว่าหากเก็บพระผงในกรอบพลาสติกไว้นานๆ อาจเกิดสิ่งที่เรียกว่าพระระเบิดได้ ซึ่งเกิดจากการที่ว่า ด้านในพลาสติกนั้น อากาศไม่มีการถ่ายเท อาจจะทำให้เกิดความร้อนสะสมระหว่างเนื้อพระและกาวผสานเนื้อพระ ขึ้นทีละเล็กละน้อย จนในที่สุดเมื่อกาวหรือสารที่เชื่อมเนื้อพระอยู่นั้นเสื่อมสภาพ อาจจะทำให้ พระไม่สามารถคงสภาพเดิมไว้ได้
    1. Note: ในส่วนของพระระเบิดนั้นอาจจะเป็นแค่ข้อสมมติฐาน ร้านท้าวสยามไม่ได้มีโอกาสพิสูจน์ด้วยตนเอง ขอให้อยู่ที่วิจารณญาณของผู้อ่านเองละกันนะครับ

1.3) เลี่ยมพลาสติกกันน้ำพระผง อย่างไรดีหากจำเป็น?

หากมีความจำเป็นที่จะต้องนำพระเนื้อเปราะ เช่น พระผง มาเลี่ยมกันน้ำจริงๆ ลูกค้าควรจะเน้นย้ำกับช่างดีๆว่าให้ระวังมากๆ และ ร้านท้าวสยามขอบอกว่าวิธีที่แนะนำและนิยมที่สุดก็คือการ รองแผ่นโฟม ระหว่างองค์พระ และ พลาสติก ซึ่งวิธีนี้จะมีประโยชน์ 2 ข้อดังต่อไปนี้

  • เพิ่มการปกป้องจากการกระแทก เพิ่มความยืดหยุ่นไม่ต้องกลัวพลาสติกจะบีบพระแรงเกินไป และ กันน้ำยาเลอะขอบพระ
  • ลดความเสี่ยง ที่จะเกิดความเสียหายกับพระ ขณะที่นำพระออกจากกรอบพลาสติกอันเก่า

วิธีดังกล่าวนั้นแค่ช่วยลดความเสี่ยง ไม่ได้ปลอดภัย100% และ อย่าลืมว่าโฟมหรือยางรองนั้นมีวันเสื่อม เมื่อถึงตอนนั้นยังไงก็ต้องแกะออกมาเลี่ยมใหม่อยู่ดี


2.) กรอบพระมีกี่แบบ ควรเลี่ยมกรอบพระแบบไหนดี ?

รูปแบบกรอบพระหลักๆของร้านท้าวสยามจะมี 4 แบบดังนี้ ซึ่งหากถามว่าควรเลี่ยมแบบไหนดี คำตอบก็คือขึ้นอยู่กับรูปทรงและชนิดพระของลูกค้าเลย นอกจากนี้ประเภทของการเลี่ยมกรอบพระสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทอีกเช่นกั ซึ่งในบทความนี้เราจะแนะนำ วิธีการเลือกกรอบพระ อย่างละเอียด

รูปแบบของกรอบพระ ทั้ง 4 แบบ

  1. กรอบพระ แบบมาตรฐาน
  2. กรอบพระ แบบจิวเวลรี่
  3. ผ่าหวาย
  4. เลี่ยมพระครอบแก้ว

2.1) กรอบพระแบบมาตรฐาน

กรอบพระแบบมาตรฐาน 4 แบบหลัก

สำหรับการเลี่ยมกรอบพระ แบบมาตรฐานทั่วไปนั้น ช่างจะทำการขึ้นรูปกรอบตามทรงขององค์พระหรือวัตถุมงคลของลูกค้า และ ทำการแกะสลักลวดลาย ตกแต่ง ตามความต้องการของลูกค้า หลังจากนั้นจะนำองค์พระมาใส่ในกรอบแล้วรัดพับแผ่นโลหะปิดด้านหลัง (เรียกว่า พับหลัง)

สำหรับกรอบพระแบบมาตรฐานจะมีสิ่งที่ลูกค้าควรจะต้องรู้อยู่ 3 อย่างดังต่อไปนี้

2.1.1) เลี่ยมพระจับขอบ และ เลี่ยมพระปิดหลัง ต่างกันอย่างไร?

เลี่ยมกรอบพระจับขอบ และ เลี่ยมพระปิดหลัง ต่างกันอย่างไร

อย่างที่ได้บอกไปว่ารูปแบบหน้าหลังของกรอบ มี 2 ชนิดหลักๆ คือ

  1. เลี่ยมพระจับขอบ หรือที่เรียกว่า เลี่ยมพระเปิดหน้าหลัง คือ
    • ช่างจะเปิดทั้งด้านหน้าและหลังขององค์พระโดยจะสังเกตเห็นว่า แผ่นทองที่ใช้ในการพับหลังจะเป็นแค่แผ่นทองบางๆที่มีลักษณะแค่ขอบที่มีช่องว่างตรงกลาง
  2. เลี่ยมพระปิดหลัง หรือที่เรียกว่า เลี่ยมเปิดหน้าอย่างเดียว คือ
    • ช่างจะเปิดด้านหน้าเพียงอย่างเดียวจะสังเกตเห็นว่า แผ่นทองที่ใช้ปิดหลังจะเป็นแผ่นทองเต็มๆแผ่นไม่มีช่องว่าง โดยทั่วไปจะมีการแกะลายลงไปด้วย เหมาะสำหรับพระที่ด้านหลังมีลักษณะแบนราบหรือนูนเล็กน้อย

ข้อแตกต่าง ข้อดีข้อเสีย : แบบปิดหลัง จะมีราคาสูงกว่า แบบจับขอบ เพราะว่าจะต้องใช้น้ำหนักทองที่มากกว่า และ ยังมีค่าแรงที่สูงกว่าด้วย

2.1.2) การนำหรือถอดพระออกจากกรอบพระ

การถอดพระออกจากกรอบพระจับขอบพับหลัง

คำถาม: สำหรับกรอบแบบมาตรฐานนั้น สามารถแกะพระออกจากกรอบเองได้ไหม และสามารถนำพระใส่เข้าไปซ้ำอีกทีได้ไหม? กรณีนี้จะเกิดขึ้นเมื่อ กรอบพลาสติกชำรุด แต่กรอบทองยังสภาพดีอยู่ ลูกค้าจึงอยากจะนำพระออกจากกรอบทอง แล้วนำไปอัดกรอบพลาสติกใหม่ แล้วจึงนำมาใส่กรอบทองอันเดิมอีกที

คำตอบ: สามารถแกะพระเดิมออกมาจากกรอบทอง แล้วใส่กลับเข้าไปใหม่ได้ แต่!!! สามารถถอดเปลี่ยนพระเข้าและออกจากกรอบทองได้เพียงแค่ไม่กี่รอบเท่านั้น โดยมากแล้วเต็มที่ก็ได้แค่ 2 – 3 รอบเท่านั้นหากแกะโดยผู้ชำนาญ เพราะกรอบพระนั้นจะต้องมีการรีดพับกรอบทองเพื่อปิดแผ่นทองด้านหลังจนแน่นสนิท (การพับหลัง) เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่พยายามเปิดแกะแผ่นทองที่พับอยู่ออกจะทำให้กรอบเสียรูปได้ ร้านท้าวสยามถือว่าเรื่องนี้คือข้อเสียหลักเลยก็ว่าได้

ให้ลองนึกถึงเวลาที่คุณเอาแผ่นโลหะมารีดพับงอ เพื่อล๊อกของบางอย่าง แล้วพยายามแกะเพื่อเปิดมันออก แล้วหลังจากนั้นก็พับมันอีกรอบ แน่นอนว่าแผ่นโลหะต้องชำรุดแน่นอน ยิ่งไปกว่านั้นทองเป็นโลหะที่นิ่มจึงทำให้เสียหายง่ายขึ้น

2.1.3) สำหรับกรอบพระ จำเป็นต้องเลี่ยมพลาสติกกันน้ำด้วยไหม?

สำหรับกรอบพระแบบมาตรฐานนั้นจะมีทั้งแบบ กันน้ำ100% และ ไม่กันน้ำ

กรอบพระเลี่ยมกันน้ำ vs. กรอบพระไม่เลี่ยมกันน้ำ
2.1.3.1) กรอบพระมาตรฐาน แบบเลี่ยมกันน้ำ

ประเภทนี้ คือ จะนำองค์พระไปอัดพลาสติกกันน้ำก่อน แล้วจึงค่อยนำมาใส่กรอบพระ

  • ข้อดี:
    • กันน้ำ 100% สามารถรักษาสภาพพระได้อย่างดี
    • สามารถเปิดให้เห็นองค์พระได้เต็มหน้า เพราะตัวกรอบจะหุ้มเฉพาะขอบพลาสติก เลยจะไม่บังหน้าพระ
  • ข้อเสีย: ต้องเลี่ยมพลาสติกกันน้ำ จึงไม่เหมาะกับพระเนื้อเปราะ
2.1.3.2) กรอบพระมาตรฐาน แบบไม่เลี่ยมกันน้ำ

ประเภทนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบย่อยคือ แต่จริงๆแล้วประเภทนี้ไม่เป็นที่นิยมเลย เพราะฉะนั้นทางร้านจะไม่เน้นส่วนนี้มาก

  1. เลี่ยมพระด้วยกรอบเปลือย ซึ่งจะนำพระใส่กรอบเปล่าโดยที่ไม่มีการใช้พลาสติกมาปิดด้านหน้าและหลังเลย
    • ข้อเสีย:
      • องค์พระ ไม่กันน้ำเลย มีโอกาสโดนเหงื่อและเป็นรอยขีดขวนแน่นอน (ร้านท้าวสยาม ไม่แนะนำเลยครับ)
      • กรอบพระจะปิดบังหน้าขององค์พระบริเวณขอบ ทำให้ไม่สามารถเห็นองค์พระได้เต็มหน้า เพราะว่ากรอบนั้นจะต้องหุ้มที่องค์พระโดยตรง ไม่เหมือนกับแบบกันน้ำที่จะกรอบจะหุ้มที่ขอบแกนพลาสติก
  2. เลี่ยมด้วยกรอบเปลือยและฝาพลาสติก วิธีนี้จะต่างจากกรอบเปลือยธรรมดาตรงที่จะมีการทำฝาพลาสติกปิดครอบด้านหน้าและด้านหลังของกรอบ จึงทำให้สามารถกันรอยขีดข่วน และ กันน้ำได้บ้างแต่ไม่ 100%
    • ข้อเสีย: วิธีนี้เป็นเหมือนวิธีครึ่งๆกลางๆ ระหว่าง กรอบพระกันน้ำ และ ตลับพระ จึงไม่ได้มีจุดเด่นด้านใดซักด้านทั้งในเรื่องของ ความสวยงาม และ ความปลอดภัยต่อองค์พระ เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นที่นิยม

2.2) กรอบพระแบบจิวเวลรี่

กรอบพระฝังเพชรแบบจิวเวลรี่

กรอบพระประเภทงานจิวเวลรี่ จะเป็นดีไซน์แบบประยุกต์ระหว่างกรอบแบบดั้งเดิมกับงานจิวเวลรี่ ซึ่งจะมีดีไซน์ที่แปลกตาและสวยงาม โดยมักจะมีการฝังเพชรล้อมเพชรหรืออัญมณีอื่นๆร่วมด้วย โดยส่วนมากร้านท้าวสยามจะทำกรอบแบบจิวเวลรี่เพื่อใช้สำหรับงานจี้พระสำเร็จรูป ซึ่งงานลักษณะนี้จะขายดีมากโดยเฉพาะกับคุณลูกค้าผู้หญิง

ส่วนเรื่องของ การจับขอบปิดหลัง การกันน้ำ การนำพระออกจากกรอบ และ ข้อดีข้อเสียต่างๆ จะคล้ายกับกรอบพระมาตรฐานเลยครับ อาจจะมีต่างกันบ้างหากเป็นการดีไซน์แบบพิเศษ

หากลูกค้าสนใจงานกรอบแบบจิวเวลรี่ละก็ร้านท้าวสยามของเราสามารถทำให้ท่านได้ เพียงนำพระของท่านมาให้เราออกแบบให้


2.3) ผ่าหวาย

กรอบพระผ่าหวาย ทุกแบบ

งานเลี่ยมผ่าหวาย หรือบางคนก็เรียกว่ากรอบผ่าหวายไปเลย โดยกรอบผ่าหวายนั้นจะมีลักษณะเหมือนหวายที่โดนผ่าครึ่งตามแนวยาว  งานผ่าหวายนั้นไม่จำเป็นว่าต้องเป็นกลมเสมอไป ทรงอื่นๆเช่นทรงสี่เหลี่ยม ทรงโค้งๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบ งานแบบเรียบๆ เรียวๆ เกลี้ยงๆ เงาๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม กรอบผ่าหวายนั้นก็สามารถทำได้ทั้ง แบบเรียบเงา หรือ แกะลาย ฉลุลายไทย แล้วแต่ความชอบ

แต่จริงๆแล้วร้านท้าวสยามทำกรอบผ่าหวายแบบขอบแกะลาย ได้สวยมากๆตามรูปเลยครับ

2.3.1) รูปแบบของกรอบผ่าหวาย

  • รูปแบบส่วนหัว
    • ธรรมดา
    • หัวจุกครอบ
  • รูปแบบลวดลาย
    • ขัดเงาเรียบ
    • แกะสลักลวดลาย

2.3.2) กรอบผ่าหวาย ต่างจาก กรอบมาตรฐาน ยังไง?

การเลี่ยมผ่าหวายนั้นจะมีแต่แบบจับขอบ จะไม่มีการปิดหลัง แต่ผ่าหวายนั้นจำเป็นต้องทำร่วมกับการเลี่ยมกันน้ำด้วยจึงไม่เหมาะกับพระเนื้อผงเท่าไรนัก

ข้อแตกต่างซึ่งเป็นข้อดีหลักของเลี่ยมผ่าหวายคือ กรอบผ่าหวายนั้นจะไม่ต้องทำการ “พับหลัง” เหมือนกับกรอบมาตรฐาน จึงทำให้กรอบผ่าหวายนั้นสามารถถอดเปลี่ยนพระ เข้าและออก จากกรอบได้หลายรอบโดยที่ไม่ทำให้กรอบชำรุดเสียหาย เพราะว่าเวลาที่เลี่ยมผ่าหวายนั้นช่างจะแกะตัวยึดที่หัวของกรอบออกแล้วถ่างกรอบออกเพื่อนำองค์พระใส่เข้าไปตัวกรอบจึงไม่เสียหาย


2.4) เลี่ยมพระครอบแก้ว

เลี่ยมกรอบพระแบบครอบแก้ว

การเลี่ยมแบบครอบแก้ว นั้นจะมีการทำฐานวางพระขนาดใหญ่ ส่วนของลักษณะกรอบโดยรอบนั้นจะมีลักษณะคล้ายๆกับผ่าหวาย ซึ่งการเลี่ยมพระครอบแก้วนั้นจะทำให้โชว์องค์พระได้โดดเด่นกว่าการเลี่ยมชนิดอื่นๆ เพราะจะมีมุมมองที่กว้างกว่าสามารถมองเห็นองค์พระได้รอบองค์ ซึ่งท้าวสยามบอกเลยว่าเหมาะมากๆสำหรับพระทรงรูปหล่อที่มีฐานกว้าง

แต่การเลี่ยมประเภทนี้ก็มีข้อเสียอยู่บ้างคือ ความยากและราคาที่อาจจะสูงกว่าประเภทอื่นๆ และอีกทั้งยังต้องใช้เวลาในการทำนานกว่าแบบอื่นๆด้วย

2.4.1) รูปแบบการเลี่ยมพระครอบแก้ว 2 แบบหลัก

  1. ฐานครอบแก้ว แบบพับปิดตาย
    • ลักษณะแบบนี้ลูกค้าจะไม่สามารถถอดเองได้ จะต้องให้ช่างถอดออกให้เท่านั้น
  2. ฐานครอบแก้วแบบ มีเดือยเปิดออกเองได้
    • ในลักษณะนี้ตรงฐานจะมีเดือยเข็มยึดอยู่ ลูกค้าสามารถดึงเดือยเข็มออกเพื่อถอดพระเข้า/ออกจากกรอบพระครอบแก้วเองได้ เพราะฉะนั้น จึงสามารถใช้กรอบเพียง 1 กรอบ กับพระหลายๆองค์ได้ หากพระนั้นเป็นพิมพ์เดียวกันและมีขนาดพอๆกัน
    • เลี่ยมครอบแก้วแบบมีเดือยเปิดปิดเองได้

2.4.2) การเลี่ยมครอบแก้วต้องเลี่ยมพลาสติกด้วยไหม?

เลี่ยมกรอบพระครอบแก้วกันน้ำ vs. กรอบพระครอบแก้วไม่กันน้ำ

ในปัจจุบันจะมีทั้ง 2 คือ แบบกันน้ำ และ แบบไม่กันน้ำ

  1. เลี่ยมครอบแก้วแบบกันน้ำ
    • ในรูปแบบนี้จะต้องนำองค์พระมาอัดกรอบพลาสติกกันน้ำก่อน แต่จะเป็นรูปแบบการเลี่ยมพลาสติกแบบครอบแก้วโดยเฉพาะๆ ซึ่งจะแตกต่างจากแบบทั่วไปๆ ร้านท้าวสยามจะอธิบายลงลึกให้ในบทความอื่นๆละกันครับ
  2. เลี่ยมครอบแก้วแบบไม่กันน้ำ
    • สำหรับรูปแบบนี้ จะไม่มีการนำองค์พระมาเลี่ยมพลาสติกกันน้ำ ส่วนของฝาครอบแก้วพลาสติกนั้นจะถูกทำขึ้นมาโดยยึดติดกับตัวกรอบทอง (ไม่ได้ยึดติดกับองค์พระ) เวลาที่ช่างนำองค์พระใส่กรอบ จะมีการทำฐานรองพลาสติกและผ้าหนังให้ขนาดพอดีกับฐานของกรอบครอบแก้ว และนำองค์พระมาติดกับฐานรองด้วยเทปกาว หรือไม่ก็จะทำฐานรองที่มีเดือยพลาสติกไว้ยึดฐานขององค์พระ แล้วจึงนำองค์พระพร้อมกับฐานรอง ใส่เข้าไปในตัวกรอบครอบแก้วทอง

3.) ตลับพระมีกี่แบบ และ มีข้อดีอย่างไร

ตลับพระมีกี่แบบ และ มีข้อดีอย่างไร

ตลับพระมีรูปร่างที่ใกล้เคียงกับกรอบพระมาก โดยตลับพระนั้นสามารถตกแต่งเพิ่มเติม โดยเพิ่มลูกเล่นต่างๆลงบนตลับ ได้เหมือนกับที่ตกแต่งลงบนกรอบพระ เช่น การแกะลาย, การยกซุ้ม หรือ จะทำแบบตลับดีไซด์แบบจิวเวลรี่ก็ยังได้ ในบทความนี้ท้าวสยามขอแนะนำวิธีการเลือกตลับพระ อย่างละเอียด

สำหรับตลับพระนั้นลูกค้าสามารถเปิดและปิดตลับเองโดยที่ไม่ต้องอาศัยช่างเลย แต่อาจจะต้องอาศัยเทคนิคนิดหน่อยซึ่งร้านท้าวสยามจะสอนให้อยู่แล้ว

มีสิ่งที่ลูกค้าควรจะรู้เกี่ยวกับตลับพระอยู่ 2 ข้อหลักๆดังต่อไปนี้


3.1) เลี่ยมตลับพระจับขอบ และ เลี่ยมตลับพระปิดหลัง ต่างกันอย่างไร

ตลับพระจับขอบ vs. ตลับพระปิดหลัง

  • ตลับพระจับขอบ:
    • จะเปิดให้เห็นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
  • ตลับพระปิดหลัง:
    • จะเปิดให้เห็นเพียงด้านหน้าอย่างเดียว แต่ด้านหลังจะถูกปิดด้วยแผ่นทองเต็มแผ่น

3.2) ตลับพระกันน้ำได้ไหม?

มักมีลูกค้าถามเข้ามาบ่อยๆว่า การเลี่ยมตลับพระนั้นต้องมีนำพระไปเลี่ยมพลาสติกก่อนไหม ตลับพระสามารถกันน้ำได้ไหม?  จริงๆแล้วการเลี่ยมตลับพระมีทั้งแบบ ตลับพระกันน้ำ 100% และ ไม่ 100%

ตลับพระเลี่ยมกันน้ำ vs. ตลับพระไม่กันน้ำ

แบบที่1: ตลับพระกันน้ำ 100%

ในแบบนี้องค์พระจะถูกนำไปเลี่ยมพลาสติกก่อน แล้วจึงค่อยนำมาใส่ตลับทีหลัง โดยตัวตลับนั้นจะถูกออกแบบมาให้มีขนาดและรูปทรงพอดีกับกรอบพลาสติกเลย

ข้อดี:

  • ตลับสามารถกันน้ำได้ 100%
  • สามารถเลี่ยมตลับได้ทั้งแบบจับขอบและปิดหลัง แต่ส่วนมากจะนิยมกันที่แบบจับขอบมากกว่า

ข้อเสีย:

  • เพราะว่าเป็นการเลี่ยมกันน้ำจึงไม่เหมาะกับพระเนื้อเปราะ อย่างพระผง ดิน ว่าน

แบบที่2: ตลับพระไม่กันน้ำ

สำหรับแบบนี้องค์พระจะไม่ต้องผ่านการเลี่ยมพลาสติก ตัวตลับจะถูกขึ้นรูปตามองค์พระ เนื่องจากไม่มีการอัดกรอบพระพลาสติก ช่างจะต้องทำหน้ากากพลาสติกเพื่อปิดหน้าตลับพระเพิ่ม โดนในระหว่างที่นำพระใส่ตลับนั้น ช่างจะทำการรองผ้าหนัง โดยการนำแผ่นโฟมมารองที่พื้นหลังและขอบด้านในของตัวตลับ จะนั้นค่อยนำพระมาวางไว้ตรงกลางแล้วผับฝาตลับปิด

ข้อดี

  • เหมาะสำหรับพระเนื้อเปราะ เช่น พระเนื้อผง เพราะว่าไม่ต้องเลี่ยมพลาสติกกันน้ำ
  • สามารถนำพระออกมาส่องได้ สำหรับเซียนที่ชอบส่องเนื้อพระ

ข้อเสีย

  • ตลับไม่สามารถกันน้ำได้ 100%
  • จริงๆสามารถทำได้ทั้งแบบจับขอบและปิดหลัง แต่ร้านท้าวสยามขอแนะนำ ให้ทำแบบปิดหลังไปเลยจะดีกว่า เพราะจะป้องกันการซึมของน้ำ และ เหงื่อ ได้ดีกว่า

3.3) เหตุผลที่ควรเลี่ยมตลับพระ และ เมื่อไรถึงควรเลือกใช้ตลับพระ และ เหมาะกับใคร?

  1. พระมีเนื้อที่เปราะไม่แข็งแรง เช่น เนื้อผง เนื้อดิน เนื้อว่าน
    • การเลี่ยมตลับนั้น มีแบบที่ไม่ต้องเลี่ยมพลาสติกกันน้ำกับองค์พระ จึงเหมาะสำหรับพระเนื้อเปราะ
    • ตลับนั้นหนาและแข็งแรง อีกทั้งยังมีโฟมรองพื้นหลังและขอบด้านในของตลับอีก จึงปลอดภัยหายห่วง
  2. ลูกค้าที่มีพระหลายองค์ พิมพ์เดียวกัน เหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน
    • ข้อดีหลักอีกอย่างคือลูกค้าสามารถสั่งทำตลับพระเพียงแค่ตลับเดียว แล้วก็สามารถสลับเปลี่ยนพระใส่ตลับเองได้ตัวตนเอง เช่น อาทิตย์นี้อยากห้อยพระองค์แรก แต่อีกอาทิตย์หนึ่งอยากห้อยอีกองค์แทน
    • ในกรณีนี้สามารถแบ่งได้ 2 กรณี
      • ตลับพระแบบกันน้ำ 100% ที่ต้องอัดพลาสติก
        • ลูกค้าจะสามารถเปลี่ยนสลับพระได้ง่ายมาก เพราะว่าช่างจะเจียรขอบของกรอบพลาสติกของพระทุกองค์ให้มีขนาดเท่ากันง่ายต่อการเปลี่ยน
      • ตลับพระแบบที่ไม่เลี่ยมพลาสติก
        • อันนี้ยากจะขึ้นหน่อย เพราะทุกครั้งที่เปลี่ยนพระจะต้องมีการตัดวัดขนาดโฟม (ผ้าหนัง) มารองที่ขอบด้านในใหม่ แต่ไม่ต้องห่วงร้านท้าวสยามของเราบริการให้ฟรีในส่วนนี้
  1. ลูกค้าที่ชอบส่องดูเนื้อพระบ่อยๆ
    • เพราะตลับแบบไม่เลี่ยมกันน้ำ นั้นสามารถเปิดฝาตลับและแกะพระออกมาเพื่อส่องเนื้อพระได้ง่ายมาก โดยไม่ต้องอาศัยช่างเลย นี่แหละเป็นข้อดีเฉพาะของตลับเลย
  2. ลูกค้าที่อยากให้พระเก่าลงและเนื้อแกร่งขึ้นไปตามธรรมชาติ
    • ลูกค้าบางท่านนิยมให้พระเก่าลง แบบว่ายิ่งเก่ายิ่งขลัง ซึ่งการเลี่ยมตลับพระแบบไม่อัดพลาสติก จะทำให้พระได้สัมผัสกับอากาศและความชื้นบ้างตามธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้พระดูเก่าลง และ มีเนื้อพระที่แกร่งขึ้น ตามกาลเวลาได้

4) ข้อแตกต่างระหว่าง กรอบพระ และ ตลับพระ

ข้อแตกต่างระหว่าง กรอบพระ และ ตลับพระ

ร้านท้าวสยามมีลูกค้าถามเข้ามามากมายว่า “ กรอบพระ กับ ตลับพระ นั้นต่างกันอย่างไร “ ร้านเราจึงแสดงการเปรียบเทียบกรอบพระทุกชนิดและตลับให้ดูกันเป็นข้อๆ เพื่อแนะแนวในการเลือกชนิดของการเลี่ยมให้เหมาะสมกับพระของลูกค้า และ ตอบคำถามว่า กรอบพระนั้นแตกต่างจากตลับพระยังไง

  1. น้ำหนัก และ ราคา ที่แตกต่างกัน
    • ตลับพระจะความหนาที่มากกว่า มีน้ำหนักที่มากกว่า และ มีราคาแพงกว่า เพราะตลับจะต้องใช้ปริมาณเนื้อทองที่มากกว่ากรอบพระ และโดยทั่วไปแล้วตลับพระจะมีค่าแรงช่างที่สูงกว่าด้วย เพราะฉะนั้นหากว่างบมีกำจัด หรือ ไม่ชอบห้อยพระแบบหนักๆ ก็จะใส่กรอบจะดีกว่า
  2. ความคุ้มค่า ที่ไม่เท่ากัน
    • ตลับพระ
      • ลูกค้าสามารถแกะพระออกจากตลับและใส่เข้าใหม่เองได้ด้วยตนเองกี่ครั้งก็ได้ ซึ่งหากลูกค้ามีพระพิมพ์เดียวกันหลายองค์ลูกค้าสามารถสั่งทำตลับพระเพียงแค่ใบเดียวแล้วก็สลับเปลี่ยนพระใส่ตลับเองได้
    • กรอบพระ
      • กรอบมาตรฐาน และ กรอบจิวเวลรี่ ลูกค้าไม่สามารถนำพระออกจากกรอบและใส่กลับเข้าไปเองได้ ต้องใช้ช่างทำให้ และ ทำได้เพียงไม่กี่ครั้งก่อนกรอบจะเสียรูป
      • กรอบผ่าหวาย ต้องให้ช่างนำพระเข้าและออกให้เช่นกัน แต่ทำจะกี่รอบก็ได้โดยที่กรอบไม่เสียรูป
      • กรอบครอบแก้ว สามารถถอดเดือยที่ฐานและถอดเปลี่ยนพระเข้าออกด้วยตนเองได้ จึงสามารถทำกรอบอันเดียวและวนใช้กับพระหลายองค์ได้เช่นกัน
  3. การส่องเนื้อพระ
    • สำหรับลูกค้าที่ชอบส่องดูเนื้อพระ
      • แนะนำเป็น ตลับแบบไม่เลี่ยมกันน้ำ และ ครอบแก้วแบบไม่เลี่ยมกันน้ำ เพราะว่าสามารถนำพระออกจากกรอบตลับด้วยตนเองได้ อีกทั้งยังไม่มีแกนและฝาพลาสติกมาบดบังการส่องพระอีก
    • สำหรับคนที่ไม่ได้ตั้งใจว่าจะส่องดูเนื้อพระ
      • เลี่ยมได้ทุกแบบตามความเหมาะสมเลยครับ
  4. การเปลี่ยนแปลงสภาพ ที่ไม่รวดเร็วเท่ากัน
    • สำหรับประเภทของพระที่ ยิ่งเก่ายิ่งแกร่งยิ่งขลังยิ่งดี
      • แนะนำให้เลี่ยมแบบไหนก็ได้ ที่ไม่ต้องนำองค์พระไปเลี่ยมพลาสติกกันน้ำ เช่น ตลับและกรอบครอบแก้วแบบไม่กันน้ำ และ กรอบมาตรฐานแบบเปลือยเปล่า(ไม่นิยม) เพราะองค์พระจะได้สัมผัสกับอากาศและความชื้นด้านนอกบ้างซึ่งเป็นปัจจัยในการเปลี่ยนแปลงสภาพและความแกร่งขององค์พระ
    • สำหรับประเภทพระที่ต้องรักษาสภาพไว้ดีๆ
      • แนะนำให้เลี่ยมประเภทที่ต้องเลี่ยมกันน้ำ เช่น กรอบมาตรฐาน/จิวเวลรี่, ผ่าหวาย, ครอบแก้วแบบกันน้ำ และ ตลับกันน้ำ รับรองว่าพระของท่านจะใหม่อยู่ตลอด
  1. ความทนทาน และ ความปลอดภัย ที่ต่างกัน
    • ตลับพระนั้นจะมีความทนทานและปลอดภัยกับองค์พระได้มากกว่า เนื่องจาก ตลับพระมีความหนาของเนื้อโลหะมากกว่ากรอบพระ ยิ่งไปกว่านั้น ภายในตลับทางร้านจะมีการนำแผ่นโฟมหรือผ้าหนังมาคั่นระหว่างพระและผิวโลหะข้างในตลับด้วย ซึ่งจะมีความสามารถในการลดแรงกระแทกได้อย่างดี
  2. ความสามารถในการกันน้ำ ที่แตกต่างกัน
    • หากเลือกแบบกันน้ำ
      • แนะนำว่าได้แบบ กรอบพระ และ ตลับพระ เลยครับ
    • หากเลือกแบบไม่กันน้ำ
      • จริงๆแล้ว เรียกว่ากันน้ำแบบไม่100% น่าจะเหมาะสมกว่า เพราะถ้าแค่ละอองฝน หรือ เหงื่อทั่วไปๆที่ไม่มากเกินไป สามารถกันได้สะบายๆครับ
      • สามารถเลือกเลี่ยมแบบไหนก็ได้ครับ หากลูกค้าเป็นคนเหงื่อเยอะ ร้านเราแนะนำให้เลือกเลี่ยมกรอบหรือตลับประเภท “ปิดหลัง” จะดีกว่าเพราะจะกันซึมได้ดีกว่า หรือไม่ลูกค้าก็ควรนำพระมาห้อยนอกเสื้อเวลามีเหงื่อมากๆ
  1. ความเสี่ยงในขั้นตอนการทำและการซ่อมบำรุง ที่ไม่เท่ากัน
    • จริงๆขั้นตอนการทำที่เสี่ยงที่สุดคือ ขั้นตอนการเลี่ยมพลาสติกกันน้ำและการถอดแกะพระออกจากกรอบพลาสติก อย่างที่ได้อธิบายไปในหัวข้อการเลี่ยมกันน้ำและเลี่ยมกรอบ เพราะฉะนั้นการเลี่ยมแบบไหนที่ไม่ต้องอัดกันน้ำ ก็จะปลอดภัยในระหว่างขั้นตอนการทำมากกว่า
  2. ความกังวลว่าพระจะโดนสลับเปลี่ยน
    • โดยทั่วไป ลูกค้าไม่ต้องฝากพระไว้กับทางร้านอยู่แล้ว เพราะทางร้านจะทำการวัดขนาดทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และ ฐาน ขององค์พระเอาไว้ หรือ ไม่ก็จะนำพระของลูกค้าไปเปิดบล๊อกทิ้งไว้ เมื่อกรอบพระหรือตลับพระเสร็จเมื่อไร จึงโทรแจ้งลูกค้าให้นำพระมาใส่กรอบหรือตลับ
    • การเลี่ยมพลาสติกกันน้ำ ร้านทั่วไปอาจจะต้องนำพระของลูกค้าเข้าไปทำหลังร้าน แต่ถ้าหากลูกค้าไม่ไว้ใจ และ ไม่สามารถตามเข้าไปดูช่างเลี่ยมได้ ก็แนะนำให้เลี่ยมตลับแบบไม่กันน้ำ เลยครับ

5) กรอบพระ และ ตลับพระ ใส่รูปแบบ ดีไซน์ ลูกเล่นอะไรได้บ้าง ?

กรอบและตลับพระนั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยหลายรูปแบบ ในเรื่องของการออกแบบและดีไซน์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบลวดลายการแกะฉลุลาย ด้านข้าง ด้านหน้า และ ข้างหลัง จนไปถึงการใช้เพชรมาประกอบงาน ร้านท้าวสยามได้ทำการแบ่งรูปแบบหลักๆทั้งหมดของแต่ละส่วนประกอบ ไว้ดังนี้

ความจริงแล้วลูกเล่นต่างๆที่กำลังจากกล่าวถึงนั้นสามารถประยุกต์กับงานทองคำ เครื่องประดับได้ทุกแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเลี่ยมตะกรุด เลี่ยมกระเช้า หรือ แบบอื่นๆ แต่ในที่นี้เพื่อความง่ายร้านท้าวสยามขอยกตัวอย่างให้แค่กรอบพระและตลับพระแล้วกันครับ


5.1) รูปแบบด้านหน้า

5.1.1) แบบธรรมดา ไม่ปะลาย/ไม่ติดซุ้ม

เลี่ยมกรอบพระแบบธรรมดา ทั่วไป

ช่างจะทำการแกะสลักลวดลาย/ขัดเงา/อื่นๆ ลงบนยอดและฐานหรือบริเวณอื่นๆบนหน้าของกรอบพระหรือตลับพระ โดยที่จะไม่มีการนำแผ่นโลหะมาติดเสริมทับเป็นชั้นๆเพื่อสร้างมิติ เหมาะสำหรับคนที่ชอบงานที่ดูเรียบๆสบายๆ

5.1.2) แบบปะลาย/ติดซุ้ม

กรอบพระเลี่ยมทอง ปะลาย

แบบปะลายยกซุ้มจะต่างจากแบบธรรมดาตรงที่ การปะลายจะหมายถึงการนำแผ่นโลหะแปะเสริมเข้าไปบริเวณยอดและฐานหรือบริเวณอื่นๆบนหน้าของกรอบหรือตลับเพื่อให้ตัวงานดูมีมิติมากขึ้นและแกะสลักลวดลายไทย pattern ต่างๆลงไป ส่วนคำว่าซุ้มนั้นจริงๆแล้วก็คือการปะลายนี่แหละแต่ว่าจะแกะสลักเป็นสิ่งที่จะเป็นจุดเด่นหลักของตัวงาน โดยสามารถเลือกได้อย่างอิสระเลยว่าอยากจะได้แบบไหน บางคนที่ชอบงานแบบเรียบๆก็อาจสั่งทำกรอบที่ปะลายอย่างเดียวแต่ไม่ติดซุ้ม ในขณะที่บางคนก็ชอบให้ติดซุ้มอย่างเดียวโดดๆโดยที่ไม่ปะลายส่วนอื่นๆที่เหลือ แต่งานมาตรฐานส่วนมากแล้วมักจะนิยมมีทั้งสองอย่างคู่กัน โดยซุ้มหลักๆที่คนนิยมทำจะมีดังนี้

5.1.2.1) ซุ้มหัวสิงห์
กรอบและตลับพระยกซุ้มหัวสิงห์แบบต่างๆ

ช่างจะแกะสลักลายเป็นหัวของพญาสิงห์

จุดเด่น สิงห์เป็นสัญลักษณ์ของ พลัง อำนาจ บารมี ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเสริมบารมีของผู้ครอบครอง ทั้งตำแหน่งหน้าที่การงานโดยเฉพาะด้านการปกครองคน และยังช่วยขจัดสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปได้อีกด้วย

5.1.2.2) ซุ้มพิกุล และ ดอกไม้
กรอบพระยกซุ้มพิกุลและดอกไม้แบบต่างๆ

ช่างจะแกะสลักเป็นลาย ของดอกพิกุล ซึ่งเป็นดอกไม้มงคลของไทย

จุดเด่น พิกุลเป็นสัญลักษณ์ของ ความเป็นสิริมงคลและอายุที่ยืนยาว เนื่องจากต้นพิกุลถูกเชื่อว่าเป็นต้นไม้ในสวนของพระอินทร์ ซึ่งเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่แข็งแรง และมีอายุยืนยาว จึงนิยมนำมาใช้ในพิธีมงคลต่างๆ

ซุ้มพิกุลนั้นมี 2 รูปแบบ หลักๆ

  1. พิกุลแบบมาตรฐาน
    • จะมีลักษณะเป็นดอกไม้ 4 แฉก ซึ่งจะมีเม็ดเกสรอยู่ตรงกลาง
  2. พิกุลแบบขดลวด
    • จะมีขดลวดล้อมเป็นแฉกของดอกไม้ และมีเม็ดเกสรอยู่ตรงกลาง

แต่นอกจาก 2 แบบนี้แล้วช่างก็สามารถทำซุ้มเป็นดอกไม้หน้าตาแบบอื่นๆได้อีกเช่นกัน

5.1.2.3) ซุ้มบัว หรือ หยดน้ำ
กรอบยกซุ้มบัว หรือ ซุ้มหยดน้ำ

ช่างจะแกะลวดลาย เป็นรูปของดอกบัว หรือ ที่ช่างบางที่เรียกว่าทรงหยดน้ำ โดยจะนิยมประดับเพชรพลอย เช่น ทับทึม มรกต เพิ่มเติมลงไปเพื่อเพิ่มความสวยงาม หรือไม่ก็ทำเป็นแบบขดลวดสำหรับพวกงานสุโขทั

จุดเด่น บัวเป็นสัญลักษณ์ของความสงบสุข บริสุทธิ์ ปัญญา และ ความผูกพัน จึงถูกนิยมนำมาปลูกเพื่อให้ครอบครัวมีความสงบสุขแจ่มใส และ ห่วงใยผูกผันรักใคร่กัน

5.1.2.4) ซุ้มแบบอื่นๆ
กรอบยกซุ้มราหู และ อื่นๆ

ในความเป็นจริงซุ้มนั้นจะแกะฉลุลายเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปพญานาค ครุฑ พระราหู อื่นๆ แล้วแต่ความต้องการของลูกค้าเลย เราลองมาดูตัวอย่างที่ลูกค้าสั่งทำร้านท้าวสยามมากันนะครับ

5.1.3) กรอบพระยืดฐาน หรือ ตลับยืดฐาน

กรอบพระยืดฐาน และ ตลับพระยืดฐาน

แบบยืดฐานจะคล้ายกับกรอบมาตรฐานทั่วไป เพียงแต่บริเวณส่วนฐานนั้นจะยืดออกมาจากตัวกรอบหรือตลับ ซึ่งบางที่ก็จะเรียก เลี่ยมแบบยืดฐาน หรือ ฐานบัว รูปแบบนี้จะเหมาะกับ พระรูปหล่อที่มีฐานกว้าง


5.1.4) ข้อแตกต่าง

แบบยกซุ้ม, แบบปะลาย และ แบบยืดฐาน จะราคาแพงกว่าแบบธรรมดา เพราะจะต้องใช้เนื้อทองมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ค่าแรงช่างก็มีราคาสูงกว่า เพราะทำยากกว่าแบบธรรมดา


5.2) รูปแบบด้านข้าง

โดยทั่วไปแล้วจะมีอยู่ 4 แบบหลักๆดังนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วสามารถนำทุกแบบมาผสมใช้ร่วมกันได้หมดขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า ซึ่งร้านท้าวสยามขอยกให้เป็นแบบที่ 5 ละกันครับ

5.2.1) แบบธรรมดา

ตลับพระยกซุ้มแกะลายทั่วไป

รูปแบบธรรมดาก็จะเป็นการแกะลายทั่วๆไป

5.2.2) กรอบไข่ปลา หรือ จิกไข่ปลา

กรอบไข่ปลา หรือ จิกไข่ปลา

ช่างจะนำ ท่อนโลหะที่โดยเป่าไฟจนละลายมาแต้มเป็นจุดกลมๆเรียงตัวกัน ลักษณะคล้ายไข่ปลา ตามบริเวณด้านข้างของตัวกรอบหรือตลับตามแนวยาว บางทีอาจจะมีการทำเส้นไข่ปลาเล็กใหญ่ผสมกันหลายเส้นตามแต่ความชอบ

5.2.3) กรอบลวดเกลียว หรือ เกลียวโปเต้

กรอบพระลวดเกลียว หรือ เกลียวโปเต้

ช่างจะนำเส้นลวดโลหะเล็กๆ มาพันเป็นสายเกลียวเชื่อมกับด้านข้างหรือตามขอบของกรอบพระและตลับพระ ซึ่งร้านท้าวสยามมีให้ลูกค้าเลือกทั้งแบบ เกลียวใหญ่ และ เกลียวเล็ก

5.2.4) กรอบพิกุล

กรอบพิกุล

ช่างจะนำขดลวดมาดัดล้อมเป็นรูปดอกพิกุล แล้ว นำมาเชื่อมติดตกแต่งตามจุดต่างๆของกรอบหรือตลับ โดยทั่วไปแล้วจะนิยมติดล้อมบริเวณขอบด้านหน้าของกรอบและตลับ จะพบได้ในพวกงานสุโขทัยเป็นหลัก

5.2.5) กรอบรูปแบบผสม

กรอบพระ ไข่ปลา ลวดเกลียว แกะลาย

ในความเป็นจริง ไม่ได้มีการจำกัดหรอกว่าจะเอาแค่จิกไข่ปลาอย่างเดียว หรือ ลวดเกลียวโปเต้อย่างเดียว ส่วนใหญ่แล้วก็จะทำผสมกันมาให้ลงตัวและสวยงามมากที่สุด

5.2.6) ข้อแตกต่าง

จริงๆแล้วไม่ได้มีข้อแตกต่างเรื่องการใช้งาน แต่จะต่างกันที่ราคาเลยอย่างเดียวเลย ซึ่งจะขึ้นอยู่ตามความยากง่ายของชิ้นงาน ยิ่งงานยากแค่แรงก็ยิ่งสูงตามไปด้วย


5.3) รูปแบบด้านหลัง

ตลับทองแกะลายรูปภาพ ลงยา

ในกรณีที่ลูกค้าเลี่ยมกรอบพระแบบปิดหลัง หรือ เลี่ยมตลับพระแบบปิดหลัง ทางร้านท้าวสยามสามารถแกะฉลุลาย ฝังเพชร ลงยา ลงไปให้ได้ โดยแบบที่ลูกค้าทั่วไปนิยมจะมีทั้งหมด 2 แบบหลัก

  • ลายแบบรูปภาพ: อันนี้ทางร้านเราสามารถทำได้ทุกแบบลูกค้าสามารถส่งแบบอ้างอิงมาให้เรา หรือ ให้เราเสนอแบบให้ก็ได้
  • ลายไทยแบบสม่ำเสมอ: อันนี้ถือว่าเป็นแบบมาตรฐานทั่วไป หากว่าลูกค้าไม่ได้ต้องการแบบขัดเงา หรือ แบบพิเศษอื่นๆโดยทั่วไปร้านเราจะทำลายประเภทนี้ให้อยู่แล้ว ปล. ร้านท้าวสยามสังเกตเห็นว่าเซียนพระส่วนมากจะชอบลายแบบนี้เพราะผิวสัมผัสจะให้ความรู้สึกเรียบลื่นกว่าแบบรูปภาพ
  • ตัวอักษร ข้อความ ในบางครั้งลูกค้าก็ขอให้ สลักชื่อ หรือ นามสกุล เพื่อให้เป็นของขวัญซึ่งจะใช้ เครื่องเลเซอร์ หรือ แกะมือ ก็ได้

5.4) รูปแบบหูห่วง

หูห่วงของงานเลี่ยมกรอบพระแบบต่างๆ

ในความเป็นจริงแล้ว ลูกค้าอยากได้กี่ห่วง ร้านท้าวสยามสามารถทำให้ได้หมดนะครับ เพราะมันขึ้นอยู่กับการใช้งานของลูกค้าเลย บางทีลูกค้าขอ 3 ห่วงเลยเพราะต้องการนำไปห้อยร่วมกับพระองค์อื่นๆต่อ โดยหูห่วงหลักๆนั้นจะมีประมาณ 4 แบบ

  • หูห่วงธรรมดา หรือ หูตลับ:
    • ถือว่าเป็นแบบมาตรฐานที่นิยมและแข็งแรงมากที่สุด
  • หูห่วงเดือย
    • หูแบบนี้จะใช้เดือยเป็นตัวขั้นห่วง ซึ่งจะดูทันสมัยมากขึ้น
  • หูห่วงหัวเม็ดมะยม หัวฟักทอง หรือ หัวเฟือง
    • หูห่วงชนิดนี้จะสามารถหมุนได้ เพื่อที่ผู้สวมใส่สามารถพลิกกลับหน้าพระได้อย่างง่ายดาย เผื่อว่าบางทีอยากจะโชว์พระด้านหน้า แต่บางทีอยากโชว์ด้านหลัง ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีหลักของห่วงชนิดนี้เลย แต่ข้อเสียคือ แบบนี้จะไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไร ปกติจึงต้องอาศัยการเลเซอร์เชื่อมเพิ่ม จึงไม่ค่อยเหมาะกับองค์พระหรือกรอบที่มีน้ำหนักเยอะ
  • หูห่วงจี้
    • ในยุคปัจจุบันร้านท้าวสยามสังเกตว่า คนนิยมเครื่องประดับสายจิวเวลลี่มากขึ้น ช่างเลยนิยมนำห่วงของจี้จิวเวลลี่มาประยุกต์ใช้กับ กรอบพระ และ ตลับพระ เพื่อความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งเรื่องการออกแบบก็จะขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าเลย
กรอบพระห่วงจี้ แบบต่างๆ

5.5) รูปแบบการลงยา

เปรียบเทียบกรอบพระลงยา และ ไม่ลงยา

การลงยา คือ การลงสีลงไปบนลวดลายที่ช่างได้แกะสลักบนกรอบพระหรือตลับพระไว้ (เรามักจะได้ยินคำว่า กรอบพระลงยา ตลับพระลงยา อยู่บ่อยๆคือเรื่องนี้แหละครับ) ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะลงยา หรือ ไม่ลงยาก็ได้ อีกทั้งยังสามารถเลือกได้ว่า ลงยา ลงบนตำแหน่งไหนบ้าง เช่น เฉพาะด้านหน้า หรือ ทั้งด้านหน้าและหลัง หรือ เฉพาะด้านบนและด้านล่าง ก็ตามแต่ความชอบของแต่ละคน

การลงยาแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ลงยาร้อนและเย็น อีกทั้งสีที่ใช้ในการลงยานั้นยังมี 2 แบบ คือ สีแบบโปร่งใส (สามารถมองเห็นพื้นหลัง)และ สีแบบทึบ (ไม่สามารถมองเห็นพื้นหลังได้)

5.5.1) ความแตกต่างระหว่าง ลงยาร้อน และ ลงยาเย็น

ลงยาร้อน ช่างจะทำการแกะสลักลวดลายเป็นร่องไว้บนตัวงาน หลังจากนั้นจะนำยาร้อนที่ลักษณะเหมือนสีก้อนมาบดเป็นผง แตะน้ำนิดหน่อย แล้วแต้มลงบนลวดลายเหล่านั้น หลังจากนั้นจะทำการเป่าไฟ เพื่อให้สีนั้นละลายติดกับทอง

ลงยาเย็น เป็นการนำยาเย็นซึ่งมีลักษณะเหมือนสีน้ำ ผสมกับสารเคมีที่ทำให้แข็งตัว (เช่น อีพ็อกซี่เรซิ่น) แล้วแต้มลงไปบริเวณที่จะลงยา หลังจากนั้นเอาไปอบหรือทิ้งไว้ให้แห้ง

ข้อแตกต่าง

  • ลงยาร้อน ข้อดีคือ สีจะมีความคงทนกว่าการลงยาเย็น แต่ข้อเสียคือ เป็นวิธีที่ยากและต้องใช้ความชำนาญมากกว่าถึงจะออกมาสวย
  • ลงยาเย็น จะเป็นวิธีที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องอาศัยความชำนาญเท่ากับการลงยาร้อน ยิ่งไปกว่านั้นไม่ต้องนำงานมาขัดอีกรอบด้วย

5.6) การฝังอัญมณี

เปรียบเทียบตลับทองฝังเพชร และ ไม่ฝังเพชร

สำหรับพระที่มีราคาแพง หรือ มีความสำคัญต่อลูกค้ามากๆ ลูกค้ามักจะสั่งทำ กรอบพระทองคำฝังเพชร ล้อมเพชร หรือ ล้อมด้วยอัญมณีอื่นๆ เช่น กรอบนพเก้า ท้าวสยามขอบอกเลยว่าพอฝังเพชรลงไปในงานแล้วจะทำให้กรอบตลับและองค์พระนั้นดูสวยและดูมีราคามากขึ้นหลายเท่าตัว งานเลี่ยมเพชร จึงเป็นที่นิยมมากสำหรับเหล่าเซียนพระและข้าราชการ

ในบรรดาอัญมณีทั้งหมดเพชรเป็นสิ่งที่คนนิยมมากที่สุด เพราะว่าเพชรนั้นดูสวยงามและสามารถซื้อขายได้คล่องกว่าอัญมณีชนิดอื่นๆ

โดยสำหรับร้านท้าวสยาม ลูกค้าสามารถเลือกคุณภาพของเพชรแท้ตามงบประมาณของลูกค้าได้ตามใจชอบด้วยราคาผู้ผลิตจริงๆ ไม่ฟันราคาแน่นอน ที่ร้านเราสามารถจัดหาเพชรที่มีคุณภาพสูงในราคาไม่แพงได้นั้นเพราะว่าร้านเราจำหน่ายงานจิวเวลลี่ด้วยจึงทำให้เราสามารถสั่งซื้อสต๊อกเพชรได้ในปริมาณมากจึงทำให้เราสามารถได้ราคาแบบดีลเลอร์


5.7) รูปแบบพื้นผิว

พื้นผิวของกรอบและตลับพระนั้นมีให้เลือกหลายแบบมาก ซึ่งสามารถนำแต่ละแบบมาผสมกันได้เช่นกัน พื้นผิวแบบหลักๆที่ลูกค้านิยมทำกับร้านท้าวสยามก็จะมีดังนี้

  1. แกะลาย : กรอบแกะลายนั้นเป็นแบบที่นิยมมากที่สุด ซึ่งลายที่ฉลุลงไปบนผิวก็จะแล้วแต่แบบที่ลูกค้าต้องการ หรือจะให้ช่างเป็นคนออกแบบให้ก็ได้
  2. ขัดเงา : สำหรับกรอบพระขัดเงา ก็ตามชื่อเลยจะเป็นกรอบที่ไม่มีลาย พื้นผิวเงาเรียบ เหมาะกับงานที่ต้องการความทันสมัย ซึ่งราคาก็จะถูกกว่าแบบอื่นๆด้วย แต่มีความนิยมเป็นอันดับที่ 2 รองจากแกะลาย
  3. พ่นทราย : สำหรับกรอบพ่นทราย จะมีการพ่นทรายลงบนผิวเหมือนในรูปตัวอย่าง
  4. ยิ๊ทราย : จะคล้ายๆกับพ่นทรายแต่ texture จะดูหยาบมีมิติมากกว่า
  5. ฉลุลาย : จะฉลุลายแผ่นทองให้เห็นเนื้อด้านใน งานประเภทนี้จะดูสวยอ่อนช้อยแต่ก็จะมีราคาที่สูงตามไปด้วย
  6. เดินลวดเกลียว : จะพบได้ในตัวงานสุโขทัยเป็นหลัก จะให้ความรู้สึกถึงความเป็นไทยและมีความขลัง แต่ค่าแรงจะแพงกว่าแบบอื่นๆ

5.8) รูปแบบความหนา

หลายๆคนคงเคยได้ยินคำว่า กรอบหนัก และ กรอบเบา มาบ้างใช่ไหม ? ลูกค้าจะสังเกตเห็นว่าทำไมบางทีกรอบพระพิมพ์เดียวกันรูปแบบเดียวกันแล้วราคาถึงต่างกัน ท้าวสยามขอบอกว่าความหนาของกรอบก็เป็นหนึ่งต้นเหตุครับ ความหนาของกรอบพระลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าต้องการกรอบหนา หรือ กรอบบาง (หรือที่เรียกว่า กรอบหนัก และกรอบเบา) ซึ่งกรอบบางจะมีข้อดีคือราคาที่ถูกกว่า เนื่องจากใช้เนื้อทองน้อยกว่า และจะมีน้ำหนักที่เบากว่า ส่วนกรอบหนาจะมีข้อดีคือ ช่างจะสามารถแกะลายได้ลึกมากขึ้นทำให้ ลายแกะนั้นสวยงาม และ คงทนมากกว่า อีกทั้งอายุการใช้งานจะนานและทนทานกว่ากรอบเบา แต่จะมีราคาที่แพงกว่าเพราะใช้ทองมากกว่า แต่ถึงอย่างไรก็ตามทั้ง 2 แบบนี้ก็เป็นที่นิยมทั้งคู่ขึ้นอยู่กับความชอบของลูกค้า

ลูกค้าของร้านท้าวสยามนั้นเอาจริงๆมีทั้งที่ชอบกรอบหนัก และ กรอบเบา โดยร้านค้าปลีกจะเน้นไปทางกรอบเบาเพราะราคาไม่แพงและขายได้คล่องตัวกว่า แต่ลูกค้าที่จะซื้อไปเก็บหรือซื้อไปใส่เองและบรรดาเซียนพระต่างๆข้าราชการจะค่อนข้างจะนิยมเป็นกรอบหนักมากกว่า เพราะงานจะสวยและทนทานมากกว่า


5.9) ประเภทของโลหะ หรือ วัสดุ

กรอบพระทองคำ vs. ทองขาว vs. พิงค์โกลด์ ต่างกันอย่างไร

โลหะที่ใช้ในการทำกรอบพระ ตลับพระ เลี่ยมเปลือย และ เลี่ยมแบบอื่นๆ นั้นมีหลากชนิดมากๆ ไม่ว่าจะเป็น นาค เงิน สแตนเลส ทองคำ พิงค์โกลด์ หากมีงบประมาณที่จำกัดแล้วส่วนใหญ่ก็จะเลือกเป็นกรอบพระเงิน ตลับพระเงิน แต่หากมีงบสูงขึ้นหน่อยก็จะเล่นเป็นกรอบพระทองคำ

สำหรับร้านท้าวสยาม เราจะรับทำแต่ทองคำแท้เท่านั้น โดยทองคำที่เราใช้จะเป็นทองคำ เปอร์เซนต์ % ความบริสุทธิ์สูงเท่านั้น เพื่อรักษามาตรฐานของทางร้าน ซึ่ง %ทอง ของร้านเรานั้นจะใช้สูงกว่าที่ สบค. กำหนด (สบค. กำหนดไว้ว่าเครื่องประดับทองคำจะต้องมีส่วนผสมของทองคำไม่ต่ำกว่า 75% หรือ พูดได้ว่า ทองคำห้ามมีความบริสุทธิ์ต่ำกว่า 75%) แต่ของร้านท้าวสยามจะใช้ % เกินกว่า 75% ขึ้นไปแน่นอน ซึ่งลูกค้าบางเจ้าก็จะขอให้ทำทองคำ %สูง แบบพิเศษให้ซึ่งร้านเราก็สามารถทำให้ได้

ส่วนเรื่องพิงค์โกลด์ สมัยก่อนหน้านี้ร้านเรารับทำ แต่สมัยนี้ลูกค้านิยมน้อยลงเพราะเวลานำไปขายคืนหรือจำนำจะไม่ค่อยได้ราคา ร้านเราจึงไม่ได้ทำเพิ่ม จะทำก็แต่งานสั่งทำแบบพิเศษเท่านั้น แต่ก็ยังพอจะมีสต๊อกเหลืออยู่บ้างบางพิมพ์

ร้านท้าวสยาม ขอแนะนำว่าให้ลูกค้าระวังเรื่องเปอร์เซนต์ทองให้ดีเพราะว่ามันมีผลต่อการใช้งานและราคาในอนาคต

อ่านบทความเกี่ยวกับ เปอร์เซ็นต์%ทองกรอบพระ คลิกตรงนี้


6.) เลี่ยมตะกรุด แบบไหนดี

เลี่ยมตะกรุด แบบไหนดี

มีลูกค้าหลายคนถามว่า เลี่ยมตะกรุด แบบไหนดี ? ก่อนอื่นเลย เลี่ยมตะกรุด นั้นจะเหมาะกับวัตถุมงคลของขลังจำพวก ผ้ายันต์ หนังสัตว์ หนังเสือ พระรูปหล่อ หรือ กุมาร ที่มีทรงยาว ในความเป็นจริงแล้วการเลี่ยมชนิดนี้ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับกรอบและตลับมากมาย โดยเลี่ยมตะกรุดนั้นจะมีจุกครอบปิดปลายทั้ง 2 ด้าน โดยเราสามารถเพิ่มรูปแบบและลูกเล่นลงบนฝาจุกครอบตะกรุดได้ตามใจชอบเหมือนๆกับของกรอบพระเลย เช่น การแกะลาย จิกไข่ปลา ฝังเพชร ลงยา อื่นๆ นอกจากนี้ยังสามารถ เลี่ยมตะกรุด กันน้ำ หรือ ไม่กันน้ำก็ได้ อีกทั้งจะเลี่ยมตะกรุดทอง เงิน หรือ อื่นๆก็ได้

คงเคยได้ยินว่า เลี่ยมตะกรุด 3 ห่วง มาใช้ไหม? ตะกรุดนั้นจะต้องมีการใส่ห่วงลงไปโดยส่วนมากก็จะขึ้นอยู่กับการใช้งานของลูกค้าและขนาดของตัวตะกรุดเลย แต่โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 1 ถึง 3 ห่วง


7.) เลี่ยมกระเช้า หรือ เลี่ยมเปลือย

เลี่ยมกระเช้า หรือ เลี่ยมเปลือย

การเลี่ยมเปลือย หรือ เลี่ยมกระเช้า ก็จะมีจุดเด่นที่เห็นได้ชัดตรงที่ว่า

  • จะไม่มีการทำฝาพลาสติก หรือ เลี่ยมกันน้ำ
  • รูปแบบจะอิสระมากๆ จะขึ้นอยู่กับรูปร่างและขนาดของวัตถุมงคล ของขลังที่นำมาเลี่ยมเลย ซึ่งงานส่วนมากจะมีลักษณะคล้ายกับกระเช้า เค้าเลยเรียกกันว่าเลี่ยมกระเช้า

การเลี่ยมประเภทนี้เราสามารถเติมแต่งลวดลายลงไปได้เต็มที่และสามารถใช้เพชร หรือ อัญมณีร่วมด้วยได้ และทำหูห่วงเพื่อไปไว้แขวนหรือห้อยบูชา

7.1) งานเลี่ยมเปลือย หรือ กระเช้านั้น เหมาะกับวัตถุมงคล หรือ ของขลัง แบบไหน ประเภทไหน?

คำตอบ: เหมาะสมกับวัตถุมงลงของขลังที่มี รูปร่างรูปทรงเฉพาะตัว หรือ มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะนำไปเลี่ยมกรอบหรือตลับพระ โดยมากแล้วจะเป็นวัตถุมงคลจำพวก งาช้างแกะสลัก เขาสัตว์ เขี้ยวเสื้อ เขี้ยวหมูตัน เบี้ยแก้ ลูกอม ลูกสะกด ตะคต พิรอดแขน สิงห์ กุมารทอง ปลัดขิก มีดหลวงพ่อเดิม อัญมณี หยกแกะสลัก และ อื่นๆ


8.) เลี่ยมเครื่องประดับ และ กล้องส่องพระ

เลี่ยมทองกล้องส่องพระ เลสพระ แหวนพระ

นอกจากพระเครื่องและวัตุมงคลของขลังแล้ว ร้านท้าวสยามขอบอกว่ายังมีเหลืออยู่อีกหนึ่งประเภท คือ การเลี่ยมเครื่องประดับต่างๆ (แต่ในบางที่เค้าก็มักจะใช้คำว่า “หุ้ม” แทน) ยกตัวอย่างเช่น แหวนพระ เลสหลวงพ่อรวย กำไลหลวงพ่อรวย กำไลหยก กำไลงาช้าง สร้อยข้อมือเชือกถัก หรือแม้กระทั่ง กล้องส่องพระ เราก็เลี่ยมทองให้ได้


9.) พระผงเลี่ยมแบบไหนดี (คำถามยอดนิยม)

พระผงเลี่ยมแบบไหนดี

ก่อนจะไปที่บทสรุปของบทความ พระผงเลี่ยมแบบไหนดี หรือ พระเนื้อเปราะอื่นๆ เช่น เนื้อดิน เนื้อว่าน ควรเลี่ยมแบบไหนดีปลอดภัยที่สุด นี่เป็นหนึ่งในคำถามยอดฮิตที่ลูกค้าถามบ่อยมากๆ ร้านท้าวสยามจะสรุปให้ฟัง

ให้แบ่งเป็น 2 กรณีดีกว่า

  1. ลูกค้าสามารถยอมรับความเสี่ยงว่า พระมีโอกาสเสียหายได้
    1. ในกรณีนี้ ลูกค้าสามารถเลี่ยมได้ทุกแบบเลย
    2. แต่หากว่าลูกค้าเลือกที่จะเลี่ยมแบบพลาสติกกันน้ำ เราก็แนะนำว่าบอกช่างให้รองโฟมที่ขอบด้วย เพราะจะเพิ่มความปลอดภัยให้องค์พระ ทั้งขณะเลี่ยม ขณะใช้งาน และขณะที่ถอดพระออกจากพลาสติกในอนาคต
  2. ลูกค้าต้องการให้พระปลอดภัย 100%
    1. เราแนะนำให้เลือกการเลี่ยม แบบที่ไม่ต้องเลี่ยมกันน้ำ ซึ่งถ้าให้แนะนำจริงก็ให้เลือก เลี่ยมตลับแบบไม่กันน้ำ จะดีที่สุดเพราะ ตลับพระนั้นหนาและแข็งแรง สามารถใส่โฟมรององค์พระที่พื้นหลังและขอบด้านในของตลับได้ สามารถเปิดปิดตลับเองได้เพื่อนำองค์พระออกมาส่องหรือเปลี่ยนสลับใส่พระองค์อื่นแทน และ ยังมีข้อดีอีกมากมายที่ได้พูดไว้หัวข้อก่อนหน้านี้ ถึงอย่างไรก็ตามตลับพระก็มีข้อเสียอยู่ 2 อย่างหลักๆคือ น้ำหนักมาก และ ราคาสูง

บทสรุป

ถ้าคุณอ่านจนถึงตรงนี้ ร้านท้าวสยามเชื่อว่าคุณจะพอมีความรู้พื้นฐานแล้วว่า เลี่ยมพระมีกี่แบบ ควรเลี่ยมพระแบบไหนดี ข้อดีข้อเสียและข้อจำกัดของแต่ละประเภทเป็นอย่างไรบ้าง กรอบพระแบบต่างๆ ตลับพระแบบต่างๆ มีกี่แบบอะไรบ้าง  ควรเลี่ยมกรอบพระแบบไหนดี กรอบพระและตลับพระต่างกันอย่างไร สามารถใส่รูปแบบและลูกเล่นอะไรได้บ้าง พระผงควรเลี่ยมแบบไหนดี

สุดท้ายนี้เราคิดว่าคุณน่าจะตัดสินใจได้แล้วแหละว่าจะเลือกอะไร แต่หากคุณยังไม่มั่นใจ ร้านท้าวสยามของเราพร้อมที่จะให้คำแนะนำคุณอย่างดีครับ สามารถติดต่อเข้ามาปรึกษาฟรีได้ครับ หลังคุยกับเราเสร็จคุณลูกค้าสามารถไปตรวจสอบราคาและคุณภาพกับที่อื่นๆได้ตามสบายเลยนะครับ แต่ได้โปรดอย่าลืมให้ความสำคัญเรื่อง %ทอง คุณภาพเพชร ด้วยนะครับ ถึงจะไม่เลือกไม่ใช้บริการเราก็ไม่เป็นไร ถือว่าได้พูดคุยช่วยเหลือกันก็ยังดีครับ

Content Protection by DMCA.com

About The Author

error: Thaosiam ไม่อนุญาตให้คัดลอกข้อมูล
Scroll to Top