- ล็อกเก็ต (locket) คืออะไร มีแบบไหนบ้าง?
- ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ล็อกเก็ตหิน (ceramic photo)
- แนะนำร้านรับทำล็อกเก็ต
- ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ล็อกเก็ตใส่รูป หรือ จี้ล็อกเก็ต (locket pendant)
- ล็อกเก็ตไม่มีบานพับ เปิด-ปิดไม่ได้ (กรอบล็อกเก็ต)
- ล็อกเก็ตมีบานพับ เปิด-ปิดได้ (ตลับ)
- ล็อกเก็ตแบบ custom
- ข้อแตกต่างระหว่าง ล็อกเก็ตตลับ vs ล็อกเก็ตกรอบ
- ล็อกเก็ตหินเลี่ยมแบบไหนดี
- ประวัติความเป็นมาของล็อกเก็ต
- บทสรุป
ผมเชื่อว่าในขณะนี้ผู้อ่านกำลังตามหาร้านรับทำล็อกเก็ต หรือ locket สวยๆอยู่ใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นก่อนอื่นเลยเราควรจะต้องมาทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนเลยว่าจริงๆแล้ว ล็อกเก็ตที่คุณผู้อ่านกำลังตามหาอยู่มันคือล็อกเก็ตแบบไหนประเภทไหนกันแน่ เพราะว่าจากประสบการณ์ที่มีลูกค้าถามเข้ามาโดยตรงและจากการสังเกตตามกระทู้ต่างๆแล้ว คนส่วนมากมักจะเข้าใจผิดหรือเข้าใจไม่ตรงกัน บางคนนึกถึงล็อกเก็ตพ่อแม่ที่เป็นหิน บางคนก็นึกไปถึงจี้ล็อกเก็ตใส่รูปถ่าย ในวันนี้เราเลยอยากจะขอมาอธิบายให้ชัดเจนกันไปเลยว่าแท้จริงแล้วล็อกเก็ตหมายถึงอะไรกันแน่ มีกี่ประเภท และ มีแบบไหนให้เลือกบ้าง ข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร ขั้นตอนการทำเบื้องต้นมีอะไรบ้าง อีกทั้งจะมาแนะนำร้านรับทำล็อกเก็ตเจ้าดังยอดนิยมให้ได้รู้จักกัน และสุดท้ายจะมาเล่าเรื่องราวความเป็นมาของล็อกเก็ตให้ฟังกันพอสังเขปสำหรับคนที่อยากจะรู้
ล็อกเก็ต (locket) คืออะไร มีแบบไหนบ้าง?
เอาจริงๆแล้วเวลาที่พูดถึงล็อกเก็ต คนทั่วไปมักจะนึกถึงอยู่ 2 อย่างคือ
1.) ล็อกเก็ตหิน หรือ ที่ได้ยินบ่อยๆกันว่า ล็อกเก็ตพ่อแม่ (ceramic photo)
สิ่งที่คนไทยเราส่วนมากมักจะคุ้นเคยและตั้งใจค้นหาในอินเตอร์เน็ตกันบ่อยๆเลยคือ ล็อกเก็ตที่เป็นหินหรือเป็นวัสดุเซรามิครูปทรงวงรีที่มีการพิพม์หรือสกรีนรูปบุคคลสำคัญต่างๆลงไปซึ่งโดยมากแล้วจะเป็น รูปพ่อแม่ หรือ พระเกจิดังๆนี่แหละ ซึ่งในความเป็นจริงน่าจะมีแค่คนไทยที่เรียกสิ่งนี้ว่าล็อกเก็ต เพราะที่อื่นเค้าก็มองว่ามันคือ ceramic photo แต่ถึงอย่างไรก็ตามบ้านเราก็เรียกกันแบบนี้มานานแล้ว โดยล็อกเก็ตแบบนี้ก็ยังสามารถจำแนกได้เป็นอีกหลายประเภทเลยอีกทั้งยังมีกรรมวิธีการผลิตที่ซับซ้อนและอาศัยความชำนาญเป็นอย่างมาก โดยเดี๋ยวบทความนี้จะลงลายละเอียดให้ต่อในหัวเรื่องย่อยถัดไปนะครับ
2.) ล็อกเก็ตใส่รูป หรือ จี้ล็อกเก็ต (locket pendant)
มาถึงฝั่งสากลบ้าง ถ้าเป็นไปตามความเข้าใจตามหลักสากลของทุกประเทศแล้วละก็ ล็อกเก็ต หรือ locket จะต้องหมายถึงกล่องหรือตลับหรือจี้ขนาดเล็กๆถึงเล็กมากๆ ที่นำมาใช้บรรจุหรือเก็บรักษาสิ่งของสำคัญต่างๆสำหรับเพื่อเป็นของที่ระลึกเป็นหลัก หรือที่เค้าเรียกกันว่า ล็อกเก็ตใส่รูป หรือ จี้ล็อกเก็ต โดยมากแล้วจะนิยมใส่เป็น รูปพ่อแม่ รูปแฟนคนรัก เพื่อเอาไว้ดูเวลาคิดถึงหรืออยู่ไกลกัน ไว้ให้เป็นของขวัญในวันสำคัญต่างๆ เช่น วันเกิด วันวาเลนไทน์ หรือไม่ก็จะเป็นรูปพระเกจิครูบาอาจารย์ที่เคารพ เทพตามศาสนา รูปกษัตริย์รัชกาลต่างๆ อัฐิ เส้นผมเกศา ของวิเศษของมงคลต่างๆ เพื่อเอาไว้ใช้เป็นเครื่องรางของศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครองตนเอง แต่ส่วนมากแล้วตามต่างประเทศเค้ามักจะนิยมทำล็อกเก็ตเป็นเครื่องประดับแฟชั่นหรือเป็นจิวเวลรี่หรูหราราคาแพงซะมากกว่า อีกทั้งเค้ายังจะนิยมทำlocketแบบ DIY เองด้วยซ้ำ
หลังจากที่เราเข้าใจความแตกต่างแล้ว ในส่วนต่อมาเราจะมาลงเจาะลึกในข้อมูลรายละเอียดของแต่ละอย่างกัน เพื่อที่หากว่าผู้อ่านอยากจะหาโรงงานรับทำหรือรับผลิตล็อกเก็ตจะได้คุยกับร้านได้ง่ายขึ้นและสามารถบอกสื่อถึงความต้องการของตนเองได้ชัดเจนมากขึ้น
ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ล็อกเก็ตหิน (ceramic photo)
ล็อกเก็ตหินหรือเซรามิค หรือที่บางคนคุ้นชินกับคำว่า ล็อกเก็ตพ่อแม่ นั้นจริงๆแล้วก็คือ แผ่นโลหะที่นำมาเคลือบด้วยเซรามิคสีขาวแล้วทำการสกรีนรูปหรือลงสีทับลงไป หลังจากนั้นก็จะนำไปผ่านกระบวนการต่างๆจนได้ตัวงานที่เสร็จสมบูรณ์ออกมา ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วผู้คนก็มักจะนิยมใส่เป็นรูปของพ่อแม่ รูปรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่9 รูปพระเจ้าตากสิน รูปเทพฮินดู เช่น พระพิฆเนศ พระแม่ลักษมี พระพรหม พระศิวะ รูปพระเยซู รูปพระเกจิอาจารย์ดังๆแห่งยุคสมัย เช่น หลวงปู่ทวด หลวงพ่อโต หลวงปู่มั่น และท่านอื่นๆ (ถ้าหากไปตามศูนย์พระเครื่องหรือตามวัด จะเห็นว่ามีล็อกเก็ตหลวงพ่อปล่อยเช่าบูชากันอย่างมากมาย)
ในปัจจุบันจะมีล็อกเก็ตหินอยู่ 2 เกรดหลักๆ คือ
- ล็อกเก็ตแบบ handmade ดั่งเดิม
- ล็อกเก็ตแบบคอมพิวเตอร์
เปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่าง ล็อกเก็ตแฮนด์เมด และ ล็อกเก็ตคอมพิวเตอร์
ล็อกเก็ตแบบแฮนด์เมดดั่งเดิมนั้นจะมีราคาที่สูงกว่าแบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมีราคาตั้งแต่ช่วงร้อยถึงหลักหลายร้อยบาทต่อหนึ่งชิ้น เนื่องจากเป็นงานที่ต้องอาศัยฝีมือและประสบการณ์ความชำนาญสูงเพราะว่าเกือบทุกขั้นตอนจะเป็นการทำมือเกือบทั้งหมด รวมถึงการลงสีก็จะเป็นการลงเองด้วยพู่กันทั้งหมดอย่างประณีตโดยจะมีแค่การสกรีนขึ้นโครงร่างสีเดียวผ่านฟิล์ม โดยในปัจจุบันช่างศิลป์ช่างฝีมือในสายงานนี้เหลืออยู่ไม่มากเพราะร้านเก่าแก่ส่วนใหญ่ก็ปิดกันไปแล้ว พอยุคสมัยเปลี่ยนงานส่วนใหญ่ก็ถูกทดแทนด้วยงานแบบคอมพิวเตอร์ที่จะทำการปริ้นภาพสีลงกระดาษรูปลอกน้ำ (decal paper) แบบสำเร็จรูปเลยแล้วเคลือบลามิเนต และทำการสกรีนลงบนแผ่นหินผ่านน้ำคล้ายกับการติดสติกเกอร์น้ำ แล้วนำไปเข้าเตาเผา ซึ่งง่ายและประหยัดเวลามากกว่า
ซึ่งโดยรวมแล้วล็อกเก็ตคอมพิวเตอร์จะให้สีที่เหมือนภาพถ่ายจริงมากกว่าและราคาถูกกว่า แต่งานล็อกเก็ตแบบดั่งเดิมจะมีสเน่ห์ความสวยความคลาสสิกมีราคามีระดับมากกว่าเยอะเลยทีเดียว และที่สำคัญล็อกเก็ตแต่ละชิ้นจะมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองเพราะว่าการลงสีการลงแววตาจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละชิ้นอยู่แล้ว เรียกได้ว่าเป็นของที่มีชิ้นเดียวในโลก ผิดกับงานแบบคอมพิวเตอร์ที่จะได้ผลงานออกมาเหมือนกันเป๊ะ100%ทุกชิ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของแต่ละคน ถ้าสมมติว่าต้องการทำในปริมาณมากๆและต้องการราคาที่ย่อมเยาว์ งานคอมพิวเตอร์ก็เป็นตัวเลือกที่ดีเลยทีเดียว แต่ถ้าหากว่าต้องการทำเพื่อเป็นของขวัญชิ้นพิเศษสำหรับให้ตัวเองหรือให้คนสำคัญเพื่อเป็นของที่ระลึก ล็อกเก็ตแบบดั่งเดิมก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากๆ
ส่วนในเรื่องของวัสดุที่นำมาใช้นั้น นอกจากแบบหินอ่อนแล้ว ในปัจจุบันยังมีวัสดุอื่น เช่น เรซิ่น และ พลาสติก ที่งานโหลนิยมนำมาใช้เนื่องจากมีราคาต้นทุนที่ถูกกว่า แต่ถึงอยากไรก็ตามเรื่องความสวยและความคงทนนั้นไม่สามารถสู้แบบหินได้แถมยังไม่สามารถทำขั้นตอนการอุดหลังได้เพราะไม่ทนความร้อน เพราะฉะนั้นงานเกรดสูงจึงไม่นิยมนำมาใช้กัน
ในส่วนต่อมานี้จะมาอธิบายขั้นตอนการผลิตล็อกเก็ตเบื้องต้นให้พอจะเห็นภาพกัน
ขั้นตอนการทำล็อกเก็ตเบื้องต้น
- จัดแต่งภาพ : จัดแต่งภาพที่ลูกค้าส่งมาให้เรียบร้อยในโปรแกรม Photoshop โดยอาจจะทำให้ภาพคมชัดขึ้น หรือ เปลี่ยนเสื้อผ้าเติมแต่งหน้าผม โดยลูกค้าจะส่งมาเป็นภาพพ่อและแม่แยกกันก็ได้ โดยช่างจะนำมาตัดต่อเป็นรูปเดียวกันเอง
- ทำแกนล็อกเก็ต : สร้างแกนกลางของล็อกเก็ต โดยเริ่มจากการนำแผ่นโลหะ เช่น ทองแดง ทองเหลือง นิกเกิล มาเข้าเครื่องรีดโลหะให้ได้ความหนาตามที่ต้องการ หลังจากนั้นทำการตัดรูปทรงตามพิมพ์ที่ลูกค้าสั่ง เช่น วงกลม วงรี(เป็นรูปทรงที่พบได้บ่อยที่สุด) สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ห้าเหลี่ยม รูปไข่ หยดน้ำ หรือ หัวใจ เป็นต้น
- เคลือบหน้าแกนด้วยเซรามิก : นำหินมาบดจนได้ผงหินเซรามิกสีขาว นำมาโรยเคลือบด้านหนึ่งของล็อกเก็ต และ เข้าเตาเผาตามขั้นตอนของแต่ละโรงงาน
- สกรีนภาพ : สกรีนหรืออัดภาพต้นแบบลงไปบนผิวเซรามิกบนหน้าของล็อกเก็ต หรือ ที่เค้าเรียกว่าขึ้นรูปจากฟิล์ม หรือ ภาษาช่างเรียกว่าการขึ้นเมาะ (ฟิล์มในที่นี้จะไม่ได้หมายถึงฟิล์มกล้องถ่ายรูปนะ แต่จะหมายถึง แผ่นฟิล์มบางๆใส่ๆที่ใช้ในงานสกรีน) เริ่มโดยพิมพ์ภาพลงบนฟิล์ม อัดกับน้ำยาสูตรพิเศษและนำเข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่าถูสีหน้าเพื่อให้ได้รูปร่างเค้าโครงออกมา สกรีนฟิล์มลงบนผิวหน้าล็อกเก็ตผ่านน้ำ แล้วจึงนำไปเข้าเตาเผา โดยในขั้นตอนนี้ ถ้าเป็นงาน handmade เค้าจะอัดรูปลงไปเป็นแค่โครงร่างสีขาวดำหรือซีเปียคร่าวๆ เพื่อนำไปลงสีเองด้วยพู่กันต่อ ส่วนพวกตัวงานคอมพิวเตอร์สมัยใหม่จะปริ้นสีแบบสำเร็จลงไปบนฟิล์มเลยซึ่งจะให้ความรู้สึกเหมือนการติดสติกเกอร์น้ำสี
- ลงสีภาพ : ในกรณีของงานล็อกเก็ต handmade จะใช้สีเซรามิก หรือ สีผงแร่ ที่ทนไฟและความร้อน พร้อมกับพู่กันขนาดเล็ก วาดภาพให้ชัดเจน แต่งสีชุด เสื้อผ้า หน้า ผม ให้เหมือนจริงมากที่สุด พ่นสีฉากพื้นหลัง เช่น สีฟ้า ซีเปีย ขาวดำ ทอง ม่วง ภาพเก่า อื่นๆ และ สามารถเพิ่มความหรูหราด้วยการลงลวดลายน้ำทองลงไปเพิ่มซึ่งจะนิยมใช้กับรูปรัชกาลต่างๆ และนำไปเข้าเตาเผาเพื่อให้สีฝังเข้าไปในเนื้ออย่างสมบูรณ์ ในขั้นตอนถือว่าเป็นเสน่ห์ของงานทำมือเลยเพราะว่างานแต่ละชิ้นจะมีรายละเอียดลวดลายเส้นที่แตกต่างกันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
- เคลือบกระจกเซรามิก : ทาน้ำยาเคลือบเซรามิกลงไปที่หน้าของล็อกเก็ต แล้วนำไปเผา ให้ช่วยให้มีความเงางาม คงทนต่อการขีดขวน แสงแดด และ สารเคมีต่างๆ
- อุดหลังด้วยมวลสาร : หากเป็นล็อกเก็ตรูปพระเกจิ ส่วนใหญ่ลูกศิษย์นำในมวลสาร เช่น ว่านยา ผงพุทธคุณ ดอกตะกรุด อัฐิ เส้นผม ของวิเศษ หรือ องค์พระเล็กๆ อุดลงไปที่ด้านหลังของล็อกเก็ต แล้วปั้มฝาหลังจากเงินทองแดงหรือทองคำที่มีขนาดเท่ากันกับล็อกเก็ตมาปิดทับลงไป ซึ่งส่วนมากแล้วก็จะแกะลายด้วยมือหรือเลเซอร์ลงไปที่แผ่นหลังด้วย เช่น ยันต์ต่างๆ หรือ ชื่อพระเกจิ หรือ หากเป็นล็อกเก็ตพ่อแม่ ก็จะนิยมใส่เป็นเส้นผมหรืออัฐิ ปล. สำหรับล็อกเก็ตเรซิ่นหรือพลาสติกนั้นจะไม่สามารถทำการอุดหลังได้เพราะว่าวัสดุไม่ทนไฟจะเกิดฟองอากาศและการหดยืนให้ชิ้นงานเสียได้เลย
- เลี่ยมกรอบหรือตลับ : สุดท้ายจะนิยมนำล็อกเก็ตไปเลี่ยมกรอบทอง หรือ ตลับทอง หรือ ล็อกเก็ตเปิดปิดได้ โดยก็จะมีแบบและเทคนิคหลายแบบให้เลือก โดยทั่วไปแล้วร้านล็อกเก็ตก็มักจะมีบริการด้านนี้อยู่แล้ว หรือถ้าไม่มีก็สามารถไปหาร้านช่างทองหรือร้านทองทั่วไปทำให้ได้สบายมาก เดี๋ยวจะมีแนะนำให้ในหัวข้อย่อยถัดไป
แนะนำร้านรับทำล็อกเก็ต
ร้านท้าวสยามของเรารับทำจี้ล็อกเก็ตหรือล็อกเก็ตใส่รูปถ่าย และรับเลี่ยมล็อกเก็ตหินเข้ากรอบทอง/ตลับทอง อย่างครบวงจร แต่ทางร้านเรามีกำลังในการผลิตล็อกเก็ตหินไม่มาก ดังนั้นเราจึงได้พยายามรวบรวมร้านรับทำล็อกเก็ตดังๆว่ามีที่ไหนบ้าง จากทั้งในอินเตอร์เน็ต โซเซียล และ จากการถามลูกค้าหน้าร้านที่นำมาเลี่ยม ให้ผู้อ่านได้ทราบกัน
ร้านล็อกเก็ตนั้นมีที่น่าสนใจหลายร้านเลย เช่น
- นางเลิ้งอ๊าร์ต
- โรงงานศรีสุข
- อังคารศิลป์
- สมพรล็อกเก็ต
- โรงงานรุ่งจิตรศิลป์
- จิรัชญา
- อานุภาพ
- น้ำมนต์ล็อกเก็ต
- โรงปั้มพระจิรัชชา
- ไทยศิลป์
- โรงงานศิลป์สยาม และอื่นๆ
ผู้อ่านลองไปค้นหาชื่อร้านเหล่านี้ในอินเตอร์เน็ตได้เลย เราไม่ได้ให้ช่องทางติดต่อของร้านไว้ในนี้เพราะว่า เบอร์โทรหรือเพจอาจจะมีการอัพเดทภายหลังได้ซึ่ง เราอาจจะไม่ได้คอยอัพเดทตามให้ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดได้
สำหรับใครที่อยากได้งานเกรดพรีเมี่ยม handmade ชิ้นต่อชิ้นเลย ทางเราก็อยากจะแนะนำ ร้านนางเลิ้งอ๊าร์ต เนื่องจากทางร้านท้าวสยามสังเกตว่ามีลูกค้าของเราไปทำล็อกเก็ตจากร้านนี้บ่อยพอสมควรเลย อีกทั้งชื่อเสียงก็ค่อนข้างสอดคล้องกับในโลกโซเซียลเหมือนกัน โดยร้านนี้เค้าเล่าว่าเค้าเป็นร้านล็อกเก็ตร้านแรกและเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย มีลูกค้าในไทยและต่างประเทศ อีกทั้งยังการันตีฝีมือความสามารถด้วยการถูกนำไปออกสื่อและช่องรายการต่างๆหลายช่อง ในปัจจุบันกิจการตกทอดมาถึงทายาทรุ่นที่สี่ ถ้าเป็นเรื่องล็อกเก็ตพ่อแม่รูปหินประเภทแฮนด์เมด(handmade) ประเภททำชิ้นต่อชิ้นลงสีเก็บรายละเอียดด้วยมือเองละก็ ร้านนี้ถือว่าเป็นตัวจริงเสียงจริงเลยหละ โดยชิ้นงานทุกชิ้นจะมีสลักชื่อนางเลิ้งอ๊าร์ตอยู่ข้างหลัง
ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ล็อกเก็ตใส่รูป หรือ จี้ล็อกเก็ต (locket pendant)
อย่างที่ได้บอกตั้งแต่ต้นไปแล้วว่าจริงๆแล้วล็อกเก็ต locket นั้นหมายถึงเครื่องประดับที่เป็นตลับหรือจี้เล็กๆ เอาไว้ใส่ของที่ระลึกชิ้นเล็กๆ เช่น รูปถ่ายรูปภาพพ่อแม่, รูปถ่ายแฟนหรือคนรัก, กระดาษโน้ตบอกรัก, เศษเสื้อผ้าหรือชุดแต่งงาน, ลายนิ้วมือ, เส้นผม, อัฐิ, ของมงคลต่างๆที่บูชา หรือแม้กระทั่ง ล็อกเก็ตหินที่ได้กล่าวไว้ในตอนแรก เพื่อเอาไว้พกติดตัวในชีวิตประจำวันเพื่อเอาไว้ดูเวลาที่รู้สึกคิดถึง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักนิยมนำมาร้อยห้อยกับสร้อยคอ สร้อยข้อมือ เข็มกลัด แหนบ หรือ แม้กระทั่งแหวน ซึ่งจะเรียกรวมๆว่าจี้ล็อกเก็ต โดยวัสดุที่นำมาทำส่วนมากจะเป็น เงิน ทองเหลือง ทองคำ พิงค์โกลด์ ทองขาว อีกทั้งจะนิยมฝังเพชรฝังพลอยอัญมณีต่างๆลงไปเพิ่มเติมเพื่อความสวยงามด้วย
ล็อกเก็ตนั้นสามารถหาซื้อได้ตามร้านเครื่องประดับหรือร้านขายaccessoriesทั่วๆไปได้ โดยพี่พบเจอได้หลักๆก็จะมี 3 แบบหลัก
- ล็อกเก็ตแบบไม่มีบานพับ (กรอบ)
- ล็อกเก็ตแบบมีบานพับ เปิด-ปิดได้ (ตลับ)
- ล็อกเก็ตแบบ Custom
ล็อกเก็ตไม่มีบานพับ เปิด-ปิดไม่ได้ (กรอบล็อกเก็ต)
สำหรับกรอบล็อกเก็ตแบบนี้นั้นจะ ไม่มีบานพับ ไม่สามารถปิด-เปิดได้ ตัวเรือนจะเป็นแบบปิดตาย โดยมากแล้วจะนิยมทำฝาด้านหนึ่งปิดทึบ ส่วนฝาอีกด้านหนึ่งเป็นพลาสติกหรือกระจกเพื่อให้เห็นสิ่งของหรือรูปถ่ายด้านใน โดยด้านที่ปิดทึบนั้นก็มักจะแกะสลักลายเป็นรูปหรือประโยคquoteดีๆลงไป โดยจะมี 2 แบบหลัก
- กรอบล็อกเก็ตแบบสไตล์ฝรั่ง : นิยมทำเป็นร่องยาวไว้ด้านบนเพื่อให้สามารถหย่อนรูปถ่ายใส่ลงมาได้ หรือ ไม่ก็จะเป็นฝาเดียวที่มีเดือย 4 มุมไว้สำหรับยึดรูปภาพแบบง่ายๆ อีกทั้งหน้ากระจกหรือพลาสติกจะล็อกติดกับโครงตัวเรือนไปเลย
- กรอบล็อกเก็ตแบบไทยๆ : จะคล้ายคลึงกับการนำรูปถ่ายรูปภาพหรือเหรียญไปเลี่ยมทองกรอบพระ โดยหลังเลี่ยมกรอบไปแล้วจะไม่สามารถเปิดออกเองได้ หากต้องการเปิดจะต้องให้ช่างเลี่ยมเปิดให้เท่านั้น นอกจากนี้ยังจะสามารถเลือกได้ว่าจะเลี่ยมอัดพลาสติกกันน้ำที่สิ่งของเลยด้วยไหม ถ้าไม่อัดพลาสติกช่างทำล็อกเก็คจะก็ต้องทำการเว้นเผื่อระยะห่างระหว่างหน้าจอกรอบล็อกเก็ตและผิวหน้าของสิ่งของให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการกระแทกและการสัมผัส สำหรับฝาของกรอบล็อกเก็ตจะสามารถเลือกได้ว่าจะเปิดหน้าจอด้านเดียวและปิดทึบอีกด้าน หรือ จะเปิดจอทั้งสองด้านเลยก็ได้
ล็อกเก็ตมีบานพับ เปิด-ปิดได้ (ตลับ)
ล็อกเก็ตแบบนี้จะมีจุดเด่นหลักคือ มีบานพับ สามารถเปิด-ปิดได้ ซึ่งจะแบ่งตัวงานเป็นอีก 2 แบบหลักแล้วกัน
- ตลับล็อกเก็ตแบบสไตล์ต่างประเทศ : บานพับจะอยู่ด้านข้าง ซึ่งจะสามารถเปิดจาก ซ้าย-ขวา แบบการเปิดสมุดหนังสือได้ ซึ่งมักจะทำเดือยล็อกหรือไม่ก็ใช้เป็นแม่เหล็ก ส่วนด้านในของฝานั้นก็จะมีร่องหรือมีเดือยไว้ให้สำหรับเสียบรูปถ่ายหรือสิ่งของเข้าไปได้ นอกจากรูปภาพแล้วก็มักจะแนบกระดาษโน้ตเล็กที่เขียนบอกรักหรือวันสำคัญเช่นวันครบรอบแต่งงาน นอกจากนี้บางทีก็จะทำเป็นแบบ 3 ชั้นคือมีแผ่นใส้กลางเพิ่มขึ้นมาหนึ่งอันเพื่อที่จะได้ใส่รูปได้มากขึ้น นอกจากนี้บางที่ก็นิยมทำเป็น locket charm เพื่อใส่ของกุ๊กกิ๊ก เช่น จี้ตัวอักษรสวยๆไว้ด้านใน
- ตลับล็อกเก็ตแบบไทย : จะเหมือนการนำพระไปเลี่ยมตลับ ไม่ได้ดู modern เหมือนกับแบบแรก ซึ่งบานพับจะอยู่ที่ด้านล่างฝั่งตรงข้ามกับหูห่วง ทำให้เวลาเปิดจะเป็นแบบ บน-ไป-ล่าง แทนและจะต้องใช้คีมบิดห่วงออกก่อน หรือ บางแบบก็จะใช้เป็นเข็มเสียบล็อกเอา โดยรวมแล้วจะเปิดค่อนข้างยาก ไม่เหมาะสำหรับการเปิดดูเล่นบ่อยๆเหมือนกับแบบแรก เพราะฉะนั้นแบบนี้ก็เลยจะเหมาะกับการใส่สิ่งของที่ต้องการเก็บรักษาอย่างระมัดระวัง โดยมักจะนิยมทำฝาด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านเป็นจอพลาสติกเพื่อให้เห็นของด้านใน ทั้งนี้จุดเด่นของล็อกเก็ตตลับแบบไทยจะอยู่ที่ฝีมือความประณีตในการแกะลายของช่างซึ่งแต่ละร้านจะมีฝีมือที่ต่างกัน โดยลายหลักๆจะเป็นลายไทย ลายกนกเปลว, ลายรูปภาพ หรือ ยันต์ แต่นอกจากนี้แล้วก็จะมีตลับจิวเวลรี่ที่จะมีดีไซน์เหมือนกับจี้เพชรซึ่งมีการปะใบเพชรฉลุลายอย่างสวยงามเหมาะสำหรับใช้ใส่ออกงานสังคมเป็นอย่างมาก
ล็อกเก็ตแบบ custom
นอกจาก 2 แบบหลักที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น แบบ custom made อื่นๆก็สามารถทำได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ล็อกเก็ตใส่อัฐิทรงหยดน้ำอันนี้ ซึ่งงานตัวนี้นั้นไม่ใช่ทั้งกรอบหรือตลับ
ลูกค้ามีความต้องการหลักๆคือ ต้องการเลี่ยมอัฐิใส่ล็อกเก็ต โดยให้ทำเป็นทรงหยดน้ำขอบข้างมนๆแนว modern, ปิดฝาทึบทั้ง 2 ด้าน, ไม่ต้องการเปิด-ปิด, กันน้ำเข้าอัฐิ และ ทำเหมือนกันหลายชิ้น
จาก requirement ข้างต้นนี้ เราจึงนำอัฐิไปเลี่ยมกันน้ำ แล้วให้ช่างขึ้นพิมพ์ตัวเรือนโดยการแกะ wax ขึ้นมาเหมือนตัวงานจิวเวลรี่ให้ทั้ง2ฝามีความโค้งมนความสมมาตรเท่ากัน แล้วจึงทำการหล่อตัวเรือนเป็นทองคำแท้จากพิมพ์ นำไปขัดผิวเงาและชุบ pink gold หรือ rhodium(ชุบขาว) ตามที่ลูกค้าต้องการ และเลเซอร์ตัวอักษร font สวยๆเก๋ๆให้เรียบร้อย สุดท้ายนำฝาทั้ง2ชิ้นมาเชื่อมประกบกันด้วยเลเซอร์
ในต่างประเทศเค้าก็นิยมกับล็อกเก็ตแบบ DIY (Do it yourself) กันมากระดับหนึ่ง โดยจะนิยมนำดินเหนียว เซรามิค เปลือกหอย หรือของใช้ใกล้ตัวอื่นๆมาทำ
ข้อแตกต่างระหว่าง ล็อกเก็ตตลับ vs ล็อกเก็ตกรอบ
ขอแบ่งเป็น 2 ข้อหลักๆ
- เรื่องราคา : ล็อกเก็ตแบบตลับจะแพงกว่าค่อนข้างมาก ถือว่าเป็นข้อเสียเดียวเลย เนื่องจากขั้นตอนการทำที่ยากกว่า ค่าแรงช่างก็เลยจะแพงกว่า อีกทั้งน้ำหนักก็ยังเยอะกว่ามากด้วย เพราะฉะนั้นถ้าหากใช้ทองคำหรือทองขาวในการทำจะต้องใช้เนื้อทองในปริมาณมากกว่าในการผลิตทำให้ราคารวมจะสูงเลยทีเดียว
- เรื่องความสะดวกในการปรับเปลี่ยน : ถือว่าเป็นข้อดีหลักของล็อกเก็ตตลับเลย เนื่องจากสามารถเปิด-ปิดฝา เปลี่ยนของด้านในได้อย่างสะดวกสบาย
ล็อกเก็ตหินเลี่ยมแบบไหนดี
ในฐานะร้านเลี่ยม ขออธิบายเป็นข้อๆไปทีละส่วนละกันนะครับ
อันดับแรกเลือกก่อนเลยว่าอยากจะใส่ล็อกเก็ตหินนี้กับเครื่องประดับประเภทไหน โดยจะมีอยู่ 2 ประเภทหลักท่พบได้บ่อย
- ทำเป็นหัวแหวน
- ห้อยเป็นจี้ล็อกเก็ตกับสร้อยคอ หรือ สร้อยคอมือ หรือ ติดกับเข็มกลัด/แหนบ(เหมาะกับการใส่ออกงานสังคมต่างๆ) โดยนำไปเลี่ยมกรอบทอง/ตลับทอง
1.) ทำล็อกเก็ตหัวแหวน
ถ้าหากต้องการนำล็อกเก็ตหินมาทำเป็นหัวแหวน จะต้องเป็นล็อกเก็ตขนาดเล็ก โดยมากขนาดจะอยู่ที่แค่ประมาณ 1 cm – 1.5 cm โดยช่างจะขึ้นตัวเรือนแหวนขึ้นมาและทำการฝังล็อกเก็ตลงไป คนส่วนมากจะนิยมใช้ล็อกเก็ตพระเกจิอาจารย์ดังๆที่ผ่านการปลุกเสกมาทำไว้ใส่เป็นแหวนพระแทนการห้อยกับสร้อยคอ
2.) ทำจี้ล็อกเก็ตหิน
สำหรับการทำเป็นจี้ไว้ห้อยกับสร้อยคอหรือข้อมือ จะมีข้อแนะนำดังนี้
#1 เลี่ยมกันน้ำล็อกเก็ตหินไปเลยดีไหม?
- ข้อดี:
- ถึงแม้ว่าล็อกเก็ตที่มีคุณภาพสูงๆจะสามารถกันน้ำ กันรอยขีดขวด กันแดดกันความร้อน ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าทำตกพื้นหรือกระแทงของแข็งๆก็อาจจะแตกปิ่นได้ เพราะฉะนั้นการเลี่ยมกันน้ำก็ปลอดภัยสบายใจมากกว่า อีกทั้งการเข้าและถอดกรอบก็จะปลอดภัยกว่าเพราะตัวกรอบจะไม่ได้สำผัสกับล็อกเก็ตตรงๆ
- สามารถใส่ เส้นผม, อัฐิ, ดอกตะกรุด, ผงพุทธคุณ หรือ ของอื่นๆ เลี่ยมเข้าพลาสติกไปพร้อมกับล็อกเก็ตหินได้เลย (คนนิยมมาก)
- ถ้าเป็นล็อกเก็ตหินที่อุดหลังด้วยว่านยาของวิเศษต่างๆมาแล้วปิดหลังด้วยวัสดุที่ไม่ใช่ทองคำ การเลี่ยมพลาสติกก็จะช่วยรักษาสภาพและกันความชื้นได้เป็นอย่างดี แผ่นปิดจะได้ไม่ดำ ไมขึ้นสนิม และของที่อุดไว้จะได้ไม่ชื้น แต่ทั้งนี้ก่อนจะเลี่ยม ต้องมั่นใจว่าล็อกเก็ตแห้งสนิทจริงๆ ไม่งั้นหลังเลี่ยมเสร็จจะเป็นไอน้ำเกาะที่ฝา
- ข้อเสีย:
- การเลี่ยมกันน้ำจะทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจากเดิมพอสมควร ซึ่งทำให้ต้องทำกรอบหรือตลับใหญ่ขึ้นตามไปด้วย ทำให้ต้องใช้เนื้อทองหรือเงินมากขึ้น ซึ่งราคาก็จะสูงตาม
#2 เลี่ยมล็อกเก็ตหินใส่กรอบหรือตลับดี?
- ในแง่ของราคา: กรอบจะน้ำหนักเบาและราคาถูกกว่า เหมาะสำหรับคนที่ต้องการราคาย่อมเยา แต่เนื่องจากตลับนั้นสามารถเปิด-ปิดสลับเปลี่ยนล็อกเก็ตได้เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่มีล็อกเก็ตขนาดพอๆกันหลายชิ้นแล้วชอบใส่สลับไปมาบ่อยๆ ซื้อตลับแค่อันเดียวแล้วสลับล็อกเก็ตใส่เอาก็น่าสนใจเลยไม่น้อย
- ในแง่ของความสวยงาม: โดยมากแล้วตลับจะทำได้สวยกว่า เนื่องจากสามารถใช้แผ่นทองที่มีความหนากว่ากรอบได้และมีพื้นที่ผิวมากกว่า จึงสามารถแกะลายได้ลึกคมสวยและละเอียดกว่า ตัวงานจะดูมีน้ำหนักเต็มไม้เต็มมือ
- Note: ส่วนใหญ่ตัวงานกรอบจากโรงงานล็อกเก็ต จะไม่เหมือนกับ กรอบจากร้านเลี่ยมโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นถ้าอยากได้ดีไซน์ที่หลากหลายตรงตามความต้องการก็เข้าร้านเลี่ยมเลยดีกว่า เพราะจะมีให้เลือกทั้งแบบมาตรฐาน แบบจิวเวลรี่ อื่นๆ สามารถเลือกออฟชั่นได้เยอะ
#3 เปิดหน้าจอกี่ด้านดี?
- อย่างที่ได้บอกไปว่า ฝาล็อกเก็ตนั้นจะเป็น ฝาทึบ หรือว่า จะเจาะเป็นหน้าจอให้เห็นของด้านในก็ได้ ถ้าว่ายังคิดไม่ออกว่าอยากได้แบบไหน ก็ลองดูแนวทางดังต่อไปนี้ครับ
- ล็อกเก็ตอุดหลังมาไหม?
- ถ้าอุดหลัง : แนะนำให้เปิดจอที่ฝาทั้งด้านหน้าและหลัง เนื่องจากแผ่นที่ใช้ปิดหลังล็อกเก็ตมักจะมีอักขระยันต์ต่างๆด้วย เพราะฉะนั้นเปิดจอให้เห็น 2 ด้านเลยจะดีกว่า
- ถ้าไม่ได้อุดหลัง : ด้านหลังของล็อกเก็ตจะเป็นหลุมโบ๋ๆไม่ได้สวยงามเท่าไร จึงแนะนำให้เปิดจอฝาเฉพาะด้านหน้าอย่างเดียวพอ แล้วแผ่นปิดด้านหลังเราสามารถให้ช่างแกะลายไทยสวยๆ หรือ ลายรูปภาพเทพ หรือ ลายยันต์ต่างๆลงไปได้ ซึ่งจะสวยกว่า Note: เว้นแต่ว่าคุณจะตั้งใจใส่สิ่งของลงไปด้านหลังของล็อกเก็ต เช่น เกศา, หมาก หรือ ผ้ายันต์เล็กๆ
ประวัติความเป็นมาของล็อกเก็ต
สำหรับที่อยากจะรู้ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับล็อกเก็ตเพิ่มเติม รู้หรือเปล่าว่าล็อกเก็ตนั้นจริงๆแล้วมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยของสิ่งนี้เป็นทั้งของที่ระลึก เครื่องราง และ เป็นสัญลักษณ์ของทั้งความรัก เกียรติยศ สัญญาผูกมัด และ ประตูสู่ความทรงใจในอดีต โดยแต่ละยุคสมัยนั้นก็จะมีการดัดแปรงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในประวิติศาสคร์ล็อกเก็ตชิ้นแรกๆนั้นคือแหวนของควีนเอลิซาเบธที่1 ซึ่งเป็นแหวนที่เปิดปิดได้บริเวณหัวพลอยได้ โดยด้านหนึ่งจะเป็นรูปของพระองค์และในอีกด้านจะเป็นรูปพระมารดาของพระองค์
- ในทศวรรตที่ 16 ในโซนทวีปยุโรป ล็อกเก็ตมันถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องรางป้องกันโชคร้ายและภูตผีปีศาจเป็นหลัก
- ในทศวรรตที่ 17 ล็อกเก็ตเริ่มนิยมใช้เป็นสิ่งเพื่อแสดงถึงความจงรักภักดี โดยเหล่าทหารในคนในวังมักจะพกล็อกเก็ตที่มีรูปของกษัตริย์
- ในทศวรรตที่ 18 เริ่มมีการทำล็อกเก็ตเป็นกรอบรูปหัวใจ แล้วนำเส้นผมของคนรักหรือคนที่เคารพที่เสียชีวิตไปแล้ว มาอัดใส่กรอบแก้วแล้วหุ้มด้วยกรอบล็อกเก็ต คล้ายๆกับกรอบพระในปัจจุบัน
- ในทศวรรตที่ 19 ล็อกเก็ตได้กลายเป็นของที่ไว้แสดงความรำลึกถึงบุคคลที่เสียชีวิตและเป็นสัญลักษณ์ของการไว้ทุกข์ โดยผู้นำแฟชั่นในตอนนั้นก็คือพระราชินีวิกตอเรีย ซึ่งทรงใส่ล็อกเก็ตรูปพระสวามีตลอดเวลาต่อหน้าประชาชน ทำให้เป็นกระแสแฟชั่นมากแรงในตอนนั้น
- ในยุคปี 2000 เป็นต้นมา เริ่มมีการนำรูปถ่ายจริงๆมาใช้จริงๆ โดยเหล่าทหารมักจะนิยมนำรูปตนเองใส่ล็อกเก็ตและให้แก้คนรักก่อนที่จะออกไปรบเป็นเวลานาน เพื่อเป็นเครื่องยืนยันถึงความรัก
บทสรุป
หากอ่านมาถึงตรงนี้ผมคาดว่าผู้อ่านจะได้รับข้อมูลเพียงพอและมีไอเดียคร่าวๆสำหรับการไปหาร้านรับทำล็อกเก็ต ไม่ว่าจะเป็นล็อกเก็ตหิน ล็อกเก็ตพ่อแม่ หรือ จะเป็นจี้ล็อกเก็ตใส่รูป ใส่สิ่งของ สำหรับใส่ห้อยสร้อยคอหรือข้อมือ อีกทั้งยังพอจะรู้ข้อมูลเบื้องต้นเช่น ล็อกเก็ตมีแบบไหนบ้าง เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของแต่ละประเภท, กรรมวิธีการผลิตเป็นอย่างไรบ้าง, นำล็อกเก็ตหินไปเลี่ยมแบบไหนดี, ประวัติความเป็นมาของล็อกเก็ต และที่สำคัญเลยคือร้านรับทำล็อกเก็ตเจ้าดังมีที่ไหนบ้าง สุดท้ายนี้ถ้ามีข้อมูลส่วนไหนผิดพลาดประการใดก็ขออภัยด้วย และ ถ้าหากผู้อ่านท่านใดสนใจใช้บริการของทางร้านท้าวสยาม ทางเรามีบริการออกแบบดีไซน์ให้ฟรีตามความต้องการของลูกค้าแบบชิ้นต่อชิ้นทั้งแบบปลีกและส่ง ขอบคุณครับ